"กทม."ระบุ ชั้นดินกรุงเทพฯทรุดตัว สาเหตุ"น้ำท่วมขัง-ระบายน้ำล่าช้า"

สังคม
19 ก.ย. 55
14:09
136
Logo Thai PBS
"กทม."ระบุ ชั้นดินกรุงเทพฯทรุดตัว สาเหตุ"น้ำท่วมขัง-ระบายน้ำล่าช้า"

เหตุการณ์รถติดนานหลายชั่วโมงเมื่อค่ำวานนี้ (18 ก.ย.) เป็นผลมาจากน้ำท่วมขังในกรุงเทพมหานครถึง 29 จุด ซึ่งสาเหตุมาจากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมามากถึง 100 -130 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง ทำให้ระดับน้ำในคลองเพิ่มสูงขึ้น แต่ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้น้ำบนถนน หรือชุมชนท่วมขัง และระบายลงท่อได้ช้ากว่าเดิม มาจากการทรุดตัวของชั้นดิน ขณะที่นักวิชาการ เสนอให้กรุงเทพมหานคร จัดลำดับความสำคัญของถนน เพื่อสูบน้ำระบายลงสู่ระบบ และติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมขัง

<"">
<"">

ฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่องในพื้นที่กรุงเทพมหานครเมื่อค่ำวานนี้ (18 ก.ย.) ส่งผลให้น้ำท่วมขังมากถึง 29 จุด ต้องใช้เวลาระบายน้ำนานหลายชั่วโมงกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งทำให้การจราจรบนถนนหลายสายติดขัดเป็นเวลานาน ชาวกรุงเทพมหานคร ตั้งข้อสงสัยว่า อาจมีสาเหตุมาจากไม่ได้ลอกท่อระบายน้ำและเกิดการอุดตัน เนื่องจากมีเศษขยะเข้าไปตกค้างในท่อ จึงทำให้การระบายน้ำได้ช้า

นายจุมพล สำเภาพลรองปลัดกรุงเทพมหานคร ปฏิเสธว่า การระบายน้ำที่ล่าช้าไม่ใช่เป็นเพราะไม่ได้ลอกท่อ หรือท่อระบายน้ำอุดตัน แต่เกิดจากชั้นดินเกิดการทรุดตัว เฉลี่ยปีละ 1-10 ซม.ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่จึงส่งผลให้ปากท่อระบายน้ำเคลื่อนตัวและไม่อยู่ในแนวที่ทำให้น้ำไหลได้สะดวก ส่งผลให้น้ำไหลลงคลองช้าลง จึงเกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่

<"">
<"">

ส่วนข้อเสนอของนายพิจิตต รัตตกุล อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้ปรับปรุงหรือเปลี่ยนท่อระบายน้ำใหม่นั้น รองปลัดกทม.ยอมรับว่าทำได้อยาก เพราะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่อาจจะทำเฉพาะบางแห่งที่ส่งผลกระทบมากเท่านั้น และกำชับเจ้าหน้าที่ ตรวจสอบไม่ให้มีเศษไม้ เศษขยะอุดตันตามช่องตะแกรงท่อระบายน้ำ

รศ.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า น้ำฝนเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่กทม.ขณะที่การระบายน้ำถูกออกแบบเป็นระบบท่อและใช้งานมากว่า 20 ปี สามารถรองรับปริมาณน้ำฝนได้ที่ระดับ 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง เมื่อฝนตกเกินกว่า 130 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง ต้องใช้เวลาระบายน้ำนานกว่า 2 ชั่วโมง พร้อมทั้งเสนอให้ กทม.ติดตั้งท่อระบายน้ำเพิ่มเติม และเร่งสูบน้ำออกจากถนนสายหลักที่สำคัญลงท่อโดยเร็ว

รศ.สุจริต กล่าวเพิ่มเติมว่า กทม.ต้องวางแผนปรับปรุงท่อระบายน้ำใหม่ทั้งหมด โดยเสนอให้ติดตั้งระบบท่อไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นระบบสาธารณูปโภคกลาง ที่แต่ละหน่วยงานสามารถมาใช้ร่วมกันได้ เพื่อลดปัญหาการแบ่งแยกหน่วยงานรับผิดชอบ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง