เพจภาษาไทยโบราณบนเฟสบุ๊ค พูดคำกระแสนิยมวัยรุ่นเป็นภาษาชาววัง

Logo Thai PBS
เพจภาษาไทยโบราณบนเฟสบุ๊ค พูดคำกระแสนิยมวัยรุ่นเป็นภาษาชาววัง

โซเชียลมีเดียอาจทำให้ผู้ใช้ที่ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่เขียนภาษาไทยสั้นลงและหันไปใช้คำที่เป็นภาษาพูดมากขึ้น แต่สำหรับนักศึกษากลุ่มหนึ่งที่หลงใหลในภาษาไทยโบราณ นำคำในกระแสนิยมวัยรุ่นมาพูดใหม่เป็นภาษาชาววัง ถูกใจชาวอินเทอร์เน็ตจนมีผู้ติดตามใน facebook เกือบ 30,000 คน

วลียอดฮิต หรือเพลงโด่งดังในหมู่วัยรุ่น ถูกแปลเป็นภาษาไทยโบราณ เขียนคู่กับภาพนางบุษบา กลายเป็นเอกลักษณ์ของ "ตะละแม่ป๊อบคัลเจอร์" เพจหนึ่งบน facebook ที่มีคนไทยเข้ามากดถูกใจเกือบ 30,000 ภายในเวลาเพียง 3 สัปดาห์
 
<"">
<"">
<"">
 
เริ่มจากการละเล่นในกลุ่มเล็กๆ โดยอาศัยรูปแบบเดียวกับอินเทอร์เน็ต "มีม" ของตะวันตก ที่ล้อเลียนภาพศิลปินฝรั่งเศส ด้วยการนำเนื้อเพลงร่วมสมัยมาแปลเป็นภาษาอังกฤษโบราณ กลุ่มนักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงลองใช้ความรู้ภาษาที่ร่ำเรียนมา นำเสนอเรื่องราวในกระแสนิยมผ่านโซเชียลมีเดีย จนได้รับความนิยมเกินคาด แม้ถูกวิจารณ์เรื่องการนำภาพวาดชั้นครูมาล้อเลียน หากสำหรับ 3 สาวผู้จัดทำ มองว่านี่คือวิธีการ 1 ในการสืบทอดและแสดงให้เห็นว่าศิลปะและภาษายังมีชีวิต
<"">
<"">

 

ปวร ปวรรัตน์ ผู้จัดทำเพจตะละแม่ป๊อบคัลเจอร์ กล่าวถึงการสร้างเพจดังกล่าวว่า เส้นแบ่งระหว่างการล้อเลียนกับการทำเลียนแบบเพื่อความชื่นชมนั้นบางมาก ซึ่งตนเองได้ทำนั้น ทำด้วยความชื่นชมชื่นชมในภาษาโบราณ ในศิลปะ ในป๊อบคัลเจอร์ ซึ่งเอาความชื่นชมมาผสมกันเพื่อให้คนเข้ามาสนใจ

"เรามีความเห็นต่อการอนุรักษ์สิ่งโบราณว่าการอนุรักษ์ที่ถูกต้องไม่ใช่การเทิดทูนและเอาขึ้นหิ้ง แต่เป็นการดึงลงมาให้คนรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่คนเข้าถึงได้ เมื่อคนเข้าถึงได้แล้วคนก็จะใช้ต่อๆ กันไปแล้วสิ่งนั้นก็จะอยู่ต่อไปได้" ฑิตฐิตา ซิ้มเจริญ ผู้จัดทำเพจตะละแม่ป๊อบคัลเจอร์ กล่าว

<"">
<"">

 

ถ้าพูดถึงการแปลคำในกระแสให้กลายเป็นภาษาโบราณ หลายคนอาจนึกถึงพจนานุกรมเล่มใหญ่ แต่สำหรับนักศึกษากลุ่มนี้ที่เป็นผู้ทำเพจตะละแม่ป๊อบคัลเจอร์ ตัวช่วยสำคัญคือพจนานุกรมออนไลน์ มีทั้งแบบแปลภาษาไทยเป็นภาษาไทย และภาษาไทยเป็นภาษาต่างประเทศอย่างภาษาอังกฤษและบาลี

ถ้าเห็นแล้วรู้ทันทีจะไม่สนุก แต่หากยากเกินไปคนส่วนใหญ่ก็เดาไม่ออก ทำให้อรวรรณ ราตรี ผู้รับหน้าที่แปลงคำต้นฉบับให้เป็นภาษาไทยโบราณต้องเปิดพจนานุกรมออนไลน์ทีละหลายเว็บไซต์ ทุ่นเวลาเลือกคำที่มีความหมายตามต้องการ เพื่อแปลให้ทันเป้าหมายภาพใหม่คืนละ 7 ภาพ

<"">
<"">

 

ไม่เพียงคำในกระแส แต่ยังรวมถึงข่าวสารทันโลก เช่นชื่อวง Pussy Riot ที่เพิ่งถูกศาลรัสเซียตัดสินจำคุก หรือข่าวการเปลี่ยนสุภาษิตรักวัวให้ผูก รักลูกให้กอด ความยากกลายเป็นความท้าทายของผู้ติดตามเพจตะละแม่ป๊อบคัลเจอร์ ที่เรียกตามภาษาชาวเน็ตว่า วิ่งควาย หรือการแข่งกันทายความหมายให้ได้เร็วที่สุดผ่านหน้าจอ

<"">
<"">

 

"เพจนี้สนุกตรงที่เราได้ทายได้คิดว่าเป็นคำศัพท์อะไร ก็เหมือนทบทวนความรู้เรื่องที่เรียนสมัยประถมมัธยม ตอบไม่เคยทันเลย บางอันคิดออก แต่ตอบไม่ทัน เร็วกันมาก" นวีน ปิติพรวิวัฒน์ ผู้ติดตามเพจตะละแม่ป๊อบคัลเจอร์ กล่าว

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาไทย กิจมาโนชญ์ โรจนทรัพย์ กล่าวว่า อย่างน้อยเพจดังกล่าวก็ทำให้คนไทยไม่ลืมรากเหง้าของภาษา ซึ่งถ้าเด็กๆได้อ่าน ได้เห็น จะรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่เคยเรียนในห้อง แต่เอามาเล่นเป็นเกม ทำให้เป็นสิ่งที่สนุกยิ่งขึ้น และทำให้ภาษาไม่เครียดเกินไป

โลกออนไลน์ที่ติดต่อกันผ่านภาพและข้อความสั้นๆ เน้นความรวดเร็ว ทำให้เกิดการใช้ภาษาในรูปแบบใหม่ไม่หยุดนิ่ง หลายเพจที่ได้รับความนิยมใน facebook เกิดจากการสร้างสรรค์วิธีการใช้ภาษาที่โดดเด่น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผูกพันอยู่กับเนื้อหาภายในสังคมของผู้ใช้ แม้ส่วนใหญ่เป็นเพียงกระแสที่เข้ามาและหายไป แต่การใช้ภาษาไทยเหล่านี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ ที่ย่อมสนุกกับการใช้ภาษาไทยในรูปแบบใหม่ๆของตนเอง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง