"เทศกาลตีจ"งานรื่นเริงของสตรีฮินดู เสริมสร้างความรักในครอบครัว

Logo Thai PBS
 "เทศกาลตีจ"งานรื่นเริงของสตรีฮินดู เสริมสร้างความรักในครอบครัว

เทศกาลตีจ เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ให้ผู้หญิงเนปาลมีโอกาสร่วมงานรื่นเริง เมื่อมาอาศัยในเมืองไทยก็ยังคงสืบทอดงานนี้ แม้จะเป็นงานของผู้หญิงแต่สาระ สำคัญก็เพื่อขอพรเทพเจ้าเพื่อความสุขของครอบครัว

ชุดส่าหรีสีแดง เครื่องประดับจัดเต็มไม่ต่างจากวันแต่งงาน ทำให้สตรีเนปาลที่มาร่วมงานเทศกาลTeej หรือ ตีจ สวยงามสะดุดตา ด้วยวันนี้เป็นวันสำคัญที่ผู้หญิงจะได้ทำหน้าที่ขอพรเทพเจ้าเพื่อให้คุ้ม ครองครอบครัวและชีวิตคู่ มีความสุข ส่วนสาวโสดก็สวดภาวนาให้ได้พบสามีที่ดี

โดยผู้หญิงชาวเนปาลจะแต่งกายในชุดที่สวยที่สุดเพื่อมาร่วมเทศกาลตีจ แต่สำหรับสิ่งที่บ่งบอกว่าใครเป็นผู้หญิงที่แต่งงานแล้วหรือยังไม่แต่งงานนั้น ก็คือ เครื่องประดับ โดยสตรีแต่งงานแล้วจะสวมสร้อยสีเขียวที่เรียกว่า "โบเต้" และสีติดหน้าผากสีแดงที่เรียกว่า "ตีก้า"และ"ซีดู๊ล"แต่สำหรับผู้หญิงที่โสดยังไม่แต่งงานก็จะไม่มีเครื่องประดับดังกล่าว

นอกจากนี้ เทศกาลติจยังเป็นงานฉลองโอกาสที่ลูกสาวซึ่งแต่งงานมีครอบครัวแล้วกลับมาเยี่ยมพ่อแม่ ที่บ้าน จึงเป็นวันแห่งความสุขของผู้หญิง ที่แสดงออกผ่านการร้องเล่นเต้นระบำ แม้จากบ้านเกิดมาไกลแต่ชาวเนปาลในเมืองไทยจัดสืบทอดงานนี้มาเป็นเวลา 8 ปี ไม่เพียงคงความเชื่อเดิม แต่ยังเพิ่มสีสันด้วยการจัดประกวดเต้นรำแบบเนปาล

วันนี้หญิงสาวจะได้รับการดูแลเป็นพิเศษจากผู้ชาย ทั้งสามี พ่อ พี่ และน้องชาย หญิงเนปาลบางคนเคร่งครัดถือศีล อดอาหาร เพื่อให้ร่างกายสะอาดก่อนการบูชาพระศิวะและพระแม่ปารวตี

ขณะที่"เอมี การ์มาจาริยา"ชาวเนปาลผู้ร่วมเทศกาลติจ กล่าวว่า "เป็นวันรื่นเริงของผู้หญิง ขอพรให้ครอบครัวมีความสุข ความสำคัญของสามี รักสามี"

นอกจากนี้"อโศก คิมิเร"พราหมณ์ผู้ประกอบพิธี กล่าวว่า ชาวเนปาลเชื่อว่า ครอบครัวจะไม่สมบูรณ์หากหญิงกับชายไม่ได้อยู่ด้วยกัน ในเทศกาลนี้ผู้ชายจะให้ความสำคัญกับภรรยา ขณะที่ผู้หญิงก็ถือคีลขอพรให้สามี เป็นกุศโลบายสร้างความรักภายในครอบครัวย่างแท้จริง

ในสังคมฮินดูซึ่งให้ความสำคัญกับผู้ชายในฐานะผู้นำครอบครัว น้อยครั้งที่ผู้หญิงจะมีบทบาท เทศกาลตีจจึงเป็นวาระพิเศษของผู้หญิง ที่ผู้ชายให้เกียรติ ไม่ต่างจากความสัมพันธ์ในครอบครัวที่จะมั่นคงได้ ก็ต้องอาศัยความรักและเข้าใจของสามีและภรรยา


ข่าวที่เกี่ยวข้อง