"ในรูปเงา" โดย เงาจันทร์ 1 ใน 7 หนังสือเข้าชิงรางวัลซีไรต์

Logo Thai PBS
"ในรูปเงา" โดย เงาจันทร์ 1 ใน 7 หนังสือเข้าชิงรางวัลซีไรต์

มนุษย์ที่ถือตนว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ หากขาดสติยับยั้งก็กระทำการไม่ต่างจากสัตว์ คือ ข้อคิดที่ผู้เขียนแฝงไว้ในนวนิยายเรื่อง ในรูปเงา บอกเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างพ่อลูก วัว และผู้หญิง ที่นำฉากธรรมชาติมาจากเมืองเพชรบุรีบ้านเกิดของผู้เขียน ซึ่งเป็นผู้หญิงคนเดียวเข้ารอบสุดท้ายซีไรต์ในปีนี้

ทิ้งท้ายให้ผู้อ่านตั้งคำถามในตอนจบ เมื่อพลิ้วปล่อยให้พ่อถูกวัวขวิดจนถึงแก่ชีวิตต่อหน้าต่อตา เพราะเคืองที่รู้ว่าพ่อมีสัมพันธ์ลึกซึ้งกับหญิงสาวที่ตนหลงรัก คือ ฉากสะเทือนอารมณ์ สะท้อนชั่วขณะที่อำนาจมืดในจิตใจอยู่เหนือสายสัมพันธ์ และเปรียบความมืดนี้เป็นเช่นเงาของมนุษย์ สิ่งที่ "เงาจันทร์" ผู้เขียน ชวนขบคิดถึงการตัดสินใจของตัวละครในนวนิยายในรูปเงา เล่าความอบอุ่นของ 2 พ่อลูกที่อาศัยผืนนาเลี้ยงชีพ ก่อนที่หญิงแปลกหน้าจะมาเปลี่ยนชีวิตของทั้งคู่ไปตลอดกาล

ฉากท้องทุ่งนาได้จากภาพจำวัยเยาว์ของผู้เขียนที่เติบโตอยู่ใน จ.เพชรบุรี โดยมีวัวเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งมีชีวิตเดรัจฉาน แสดงพฤติกรรมด้วยสัญชาตญาณสัตว์ ซึ่งท้ายที่สุดตัวละครมนุษย์ในเรื่องก็แทบไม่ต่างจากสัตว์เมื่อขาดสติ ยับยั้ง

<"">
<"">

 

"จริงๆ มนุษย์เป็นสัตว์อ่อนแอ  มนุษย์อ่อนแอ น่าสงสาร เพราะว่าโดยธรรมชาติ ธรรมชาติให้กิเลสมนุษย์มาเพื่อให้ดำเนินชีวิตไปตามธรรมชาติ ดำเนินไปตามกิเลสเพื่อสืบเผ่าพันธุ์ให้ดำรงอยู่ แต่ถ้าเราดำเนินชีวิตไปตามกิเลสอย่างเดียวโดยที่เราไม่มี คือ พร้อมรักก็ลูกชายมาก ไม่ว่าจะลูกจริงหรือลูกไม่จริงก็แล้วแต่ แต่พลาดจนได้เพราะผู้หญิง" อำไพ สังข์สุข (เงาจันทร์)  นักเขียนกล่าว

"เจ้าของไม่ต้องการมัน เพราะมันมีขวัญร้ายถึง 2 แห่ง ขวัญแรกชื่อทับแอกซึ่งอยู่บนบ่า เชื่อกันว่าเลี้ยงไว้จะทำให้เจ้าของได้รับความทุกข์หนักตลอดชีวิต ขวัญร้ายอีกหนึ่งแห่งของเจ้าวัวตัวนี้ชื่อจำกวน เป็นขวัญอยู่ระหว่างใต้หัวเข่ากับข้อเท้า เชื่อกันว่ามันเป็นขวัญร้ายยิ่ง เพราะจะให้โทษกับผู้เลี้ยงถึงขนาดถูกจับกุมคุมขัง" อาจจะสงสัยว่าผู้เขียนรู้จักวิธีสังเกตขวัญวัวได้อย่างไร ทั้งหมดเกิดจากการคลุกคลีอยู่กับท้องทุ่งตั้งแต่ยังเด็ก และได้เรียนรู้วิธีสังเกตขวัญวัวจากพ่อที่เป็นชาวนา

การได้เรียนรู้ตำแหน่งขวัญดีขวัญร้ายของวัวตามความเชื่อที่สืบต่อกันมา และนำประเพณีวิ่งวัวลาน กีฬาพื้นบ้านประจำจังหวัดที่จัดขึ้นหลังฤดูเก็บเกี่ยว มาเพิ่มสีสันในบทเจ้าดอกรุงรัง วัวพยศที่มีตัวตนอยู่จริงครั้งผู้เขียนได้ไปชมกีฬานี้ถึงสนามแข่ง คือการ หยิบเอาสิ่งที่คิดถึงได้ง่ายจากการเติบโตอยู่ในสังคมเกษตรกรรมที่วัวเป็น หัวใจของคนท้องถิ่นมาแต่งเป็นนวนิยายในรูปเงา ซึ่งใช้เวลาเขียนเพียง 2 อาทิตย์ระหว่างผู้เขียนรอฟังผลตรวจเนื้องอก

เสียงร้องตลอดทั้งคืนของลมตะเภาที่พัดจากหาดเจ้าสำราญ เป็นอีกความชอบของเงาจันทร์ที่ใช้ความงดงามของธรรมชาติเมืองเพชรมาสร้างเป็นฉากในงานเขียนแทบทุกเล่ม หากหลายครั้งที่ผู้เขียนจินตนาการว่าความงามเหล่านั้นเจือด้วยรสความเศร้า และความตาย อันเป็นผลจากวัยเด็กเคยอ่าน ปาป้า เฮมิ่งเวย์ หนังสืออัตชีวประวัติของนักเขียนอเมริกันที่ครอบครัวมีประวัติการฆ่าตัวตาย ถึง 5 คน จนเกิดเป็นความกลัวในใจและทำให้ผู้เขียนล้มป่วย

"สาเหตุที่อินง่าย เพราะคนหวั่นไหวง่าย คนอย่างนี้จะมีแต่อารมณ์ ไม่มีเหตุผล ต้องใช้สมาธิช่วยสร้างเหตุผล อ่านเยอะๆ คนที่ฉลาดๆ ช่วยให้มุมมองชีวิตลึกซึ้งขึ้น ชีวิตไม่ใช่อะไรจากการสังเกตตัวเรา สังเกตคนอื่น เอามาแก้ไขให้มันสมบูรณ์แบบ ชีวิตเหมือนปลูกต้นไม้ต้องตัดแต่ง เหมือนประติมากรรมที่แกะสลักหิน ตัดสิ่งที่ไม่สมบูรณ์ให้เหลือแต่สิ่งที่สมบูรณ์" ผู้เขียนกล่าวเสริม

แม้เริ่มต้นเขียนหนังสือเมื่อ 10 ปีที่แล้ว และมักถูกนำไปเปรียบเทียบกับงานเขียนของพี่ชาย แดนอรัญ แสงทอง อยู่บ่อยครั้ง หากเงาจันทร์มองว่านั่นเป็นความท้าทาย และเชื่อมั่นว่างานเขียนของตนสามารถพัฒนาได้ ในรูปเงาเป็นนวนิยายอีกเรื่องที่คงเอกลักษณ์ความเป็นเงาจันทร์ ทั้งเนื้อเรื่องที่สะท้อนจิตใจภายใน เล่นกับอารมณ์ความรู้สึกของผู้อ่าน ฉากธรรมชาติอันสวยงามของเมืองเพชรบุรีบ้านเกิด รวมทั้งสำนวนภาษาที่สละสลวย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง