เปิดเล่มซีไรต์: โลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้า

Logo Thai PBS
เปิดเล่มซีไรต์: โลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้า

เป็นนักเขียนที่มีผลงานเข้ารอบสุดท้ายซีไรต์มากที่สุดอีกคนหนึ่ง แต่ไม่เคยประสบความสำเร็จ ปีนี้นวนิยายเรื่อง"โลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้า" ของ "ศิริวร แก้วกาญจน์" ผ่านเข้ารอบสุดท้ายอีกครั้ง ด้วยความโดดเด่นในกลวิธีเล่าเรื่องถ่ายทอดชะตากรรมของพลเมืองจากประเทศเพื่อนบ้าน คู่ขนานไปกับบันทึกส่วนตัว

<"">
<"">

พอวา" สมาชิกใหม่กำเนิดขึ้นระหว่างระหกระเหินกลางป่าดงดิบที่เต็มไปด้วยเชื้อร้ายของโรคระบาด ไม่สามารถกลับไปยังหมู่บ้านเกิดโซการีได้ เพราะถูกเผาทำลายจากทหารพม่า ทางเดียวที่จะมีชีวิตรอด คือมุ่งหน้าสู่ทิศตะวันออก ชะตากรรมของชาวกะเหรี่ยงในพม่า ถ่ายทอดผ่านเรื่องราวการลี้ภัยของสาวน้อยพอวากับพี่สาวพอทู และพรรคพวกขณะที่นักเขียนสารคดีหนุ่มมุ่งหน้าสวนทางข้ามพรมแดนสู่พม่า เพื่อเก็บข้อมูลชีวิตคนชายขอบ ถ่ายทอดสิ่งที่เห็นผ่านการจดบันทึกประจำวัน เรื่องราวของคน 2 กลุ่ม ที่ไม่ได้เกี่ยวพันกันอย่างชัดเจนนัก หากสะท้อนเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งในมิติของ "คนนอก" และ "คนใน" ได้อย่างเด่นชัด จากนวนิยายเรื่อง โลกประหลาด ในประวัติศาสตร์ความเศร้า ของ ศิริวร แก้วกาญจน์ ใช้กลวิธีเล่าเรื่องคู่ขนานเป็น 2 ส่วนในแบบนิยายและบันทึกส่วนตัว

ศิริวร แก้วกาญจน์ นักเขียน กล่าวว่า  "เรื่องเดินเป็นคู่ขนานตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งการใช้ภาษาก็ตั้งใจใช้ภาษา 2 แบบ โดยในช่วงบันทึกมีทั้งข้อมูลเชิงวิชาการ ข้อมูลเป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ซึ่งก็ค้นเพิ่มเติมจากหนังสือประวัติศาสตร์หลายเล่มมากทั้งประวัติศาสตร์พม่า ประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งเรื่องคู่ขนาน 2 เรื่อง เดินไปจนสุดท้ายก็บรรจบกัน ระหว่างความเป็นคนนอก คนใน ก็หายไป ทั้งหมดก็คือนิยายเรื่องหนึ่ง"

ความทรงจำครั้งเดินทางเยือนทวายเป็นครั้งแรกเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ตามคำชวนของเพื่อนนักศึกษาพม่าที่ลี้ภัยการเมืองมายังเมืองไทย ยังอยู่ในความทรงจำและนำมาถ่ายทอดในตอน "การเดินทางของนกเค้าแมว" เรื่องราวชีวิตของ"บือพอ"หมอสาวชาวพม่า ที่ต้องหนีเอาชีวิตรอด ขณะเดียวกันก็ต้องต่อสู้กับโรคร้ายในป่า การได้กลับไปยังดินแดนชายขอบอีกครั้ง เรียนรู้วิถีชีวิตและแลกเปลี่ยนความคิดกับผู้อพยพนานร่วม 3 เดือน ช่วยให้ ศิริวร เข้าใจสถานการณ์ผู้คนในประเทศเพื่อนบ้านฝั่งตะวันตก และถ่ายทอดออกมาได้อย่างละเมียดละไม

"โลกประหลาด ในประวัติศาสตร์ความเศร้า" ยังโดดเด่นในวิธีเล่าเรื่องที่หลากหลายและแปลกใหม่ประกอบกับให้ข้อมูลประวัติศาสตร์บางส่วน ชวนให้ "โลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้า"เป็นอีกเรื่องที่น่าอ่าน เป็นเรื่องล่าสุดของนักเขียนจากแดนใต้ วัย 44 ปี ที่จะได้พิสูจน์ฝีมือบนเวทีซีไรต์อีกครั้ง

สำหรับนักเขียนคนหนึ่ง กับการที่ผลงานวรรณกรรมเข้ารอบสุดท้ายซีไรต์ทั้งหมด 7 ครั้ง 8 เล่ม และนี่ถือเป็นครั้งล่าสุด กับ โลกประหลาด ในประวัติศาสตร์ความเศร้า เป็นครั้งที่ 8 แล้ว แม้ที่ผ่านมาจะไม่เคยได้รับรางวัลมาก่อน แต่ว่าการเข้ารอบสุดท้ายซีไรต์ ก็ถือเป็นการเปิดทางให้ผู้อ่านได้พบกับงานเขียนของเขามากขึ้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง