พหุวัฒนธรรมฟื้นฟูวิถี"กะเหรี่ยง"

Logo Thai PBS
พหุวัฒนธรรมฟื้นฟูวิถี"กะเหรี่ยง"

เดือน 9 ของชาวกะเหรี่ยงมีพิธีสำคัญคือผูกแขนเรียกขวัญ วันนี้ได้เห็นพลังของชาติพันธุ์กลุ่มนี้กว่า 1,000 คนที่มาร่วมงานพหุวัฒนธรรมเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตกระเหรี่ยง จัดกิจกรรมกันที่ไทยพีบีเอส ไม่เพียงสะท้อนถึงสถานการณ์ปัญหาที่กำลังเผชิญ แต่ยังหวังให้การแสดงสื่อสารถึงความหลายทางทางวัฒนธรรม

<"">
<"">

ความหมายมงคลจากเครื่องประกอบพิธี 9 อย่าง ด้ายขาวสื่อถึงจิตใจที่บริสุทธิ์ ข้าวเหนียวห่อต้มสุกแทนความสามัคคี กล้วยสุกเปรียบดังความรักและการขยายเผ่าพันธุ์ ส่งผ่านงานผูกแขนเรียกขวัญเดือน 9 หรือไคจูหล่าคอกของกะเหรี่ยง พิธีกรรมสำคัญช่วงฤดูฝน เรียกขวัญให้หายจากการเจ็บป่วย ซึ่งเชื่อว่ามาจากเคยทำผิดต่อข้อห้ามและธรรมชาติที่ตนเคารพ งานผูกขวัญประจำปีครั้งนี้ ยังเป็นการรวมตัวของชาวบ้านหลายกลุ่ม ทั้งฝั่งไทยและพม่า เพื่อสืบทอดวัฒนธรรมอันมีความหมายต่อวิถีชีวิต

เต่าจาเอเช้อ ชาวบ้านพะอัน รัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า กล่าวว่า เมื่อทราบว่ามีจัดประเพณีนี้ก็มาร่วม ซึ่งเมื่อมาแล้วก็สบายใจ สอดคล้องกับ จอนิ โอ่โดเชา ปราชญ์ปกาเกอะญอ จ.เชียงใหม่ ที่เผยว่า "การผูกขวัญเป็นความเชื่อที่สัมพันธ์กับการเคารพธรรมชาติ วันนี้เห็นว่ามีมาจากหลายที่"

กระบวนการสร้างความเป็นไทยที่ผ่านมา ก็อาจจะทำให้เกิดการแบ่งแยกและทัศนคติด้านลบต่างชาติพันธุ์ด้านลบต่อชาติพันธุ์ที่แตกต่างจากตน ชนกลุ่มน้อยที่เข้ามาทำงานในเมืองใหญ่จึงต้องซ่อนเร้นอัตลักษณ์ของตนที่มีอยู่ แต่ในงานพหุวัฒนธรรมเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตกะเหรี่ยง นอกจากจะได้เห็นการมีอยู่ของวัฒนธรรมดีงามที่พวกเขายังรักษาไว้เพื่อให้เกิดการยอมรับในความต่าง ยังสื่อถึงความหวังในการมีชีวิตที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่สะท้อนวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงก็คือ บทเพลงโอคูโอคอกที่ขับร้องโดยหนุ่มสาวแรงงานกะเหรี่ยงจากพม่า ที่บอกเล่าการมาถึงของฤดูกาลที่มีอาหารธรรมชาติให้เก็บกิน ตลอดจนความสุขสมบูรณ์ที่ได้จากผลผลิตในไร่ ก็ถ่ายทอดออกมาได้อย่างงดงาม รวมถึงบทเพลงของชนเผ่าจากกลุ่มปะโอ ปกาเกอะญอ รวมถึงศิลปินแห่งชาติจากรัฐกะเหรี่ยง โจ่วไล๊ก์เซ่ย ล้วนสะท้อนความภูมิใจในอัตลักษณ์ ขณะที่คนรุ่นใหม่ที่มาหางานทำในเมือง แทบไม่ได้ดำรงชีวิตตามวิถีเดิม จึงไร้ผู้สืบทอดภูมิปัญญาวัฒนธรรม  คือที่มาของความพยายามในการฟื้นฟูวิถีชีวิตกะเหรี่ยง โดยเครือข่ายทำงานเพื่อชนเผ่าพื้นเมือง พร้อมส่งเสริมความรู้เชิงวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน

สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานอนุกรรมการฝ่ายทรัพยากรและสิทธิฯ กล่าวว่า "งานพหุวัฒนธรรมทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนโดยมีวัฒนธรรมเป็นสื่อและทำให้เขารู้ว่าเขาควรศึกษา และทำอย่างไรเพื่อให้มีสิทธิมีชีวิตที่ดีขึ้น"

ด้าน ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่ปรึกษาโครงการพหุวัฒนธรรมเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตกะเหรี่ยง กล่าวว่า "มันต้องมองเขาอย่างเพื่อนมนุษย์ที่ต่างกับเราได้ แต่ก็เป็นมุนษย์ที่มีวัฒนธรรม ประเพณี มีภาษาของตนเองเหมือนกับเรา"

ขณะที่ โจ่วไล๊ก์เซ่ย  ศิลปินพื้นเมืองพะอัน ประเทศพม่า  กล่าวว่า ยินดีที่ได้มาร่วมกิจกรรมกับพี่น้องร่วมชาติพันธุ์ในฝั่งไทย แม้จะมีทั้งความเหมือนและความต่าง แต่ก็เป็นสิ่งดีงามที่สืบทอดร่วมกัน ทุกวันนี้ครูเพลงชื่อดังจากฝั่งพม่าทำหน้าที่ถ่ายทอดดนตรีให้ลูกหลานกะเหรี่ยงฝั่งไทยบ้างบางครั้ง หวังให้ภูมิปัญญาด้านดนตรีของชาติพันธุ์ ยังคงสืบทอดต่อไป

หลังต้องย้ายจากที่ทำกินเดิมซึ่งอาศัยมาเนิ่นนาน มาอยู่ในพื้นที่ซึ่งรัฐจัดสรรให้ใหม่ วิถีกะเหรี่ยง บ้านโป่งลึก-บางกลอย จ.เพชรบุรี ต้องเปลี่ยนไป ไม่มีที่ทำกินเหมือนก่อน ภาพชีวิตส่วนหนึ่งที่ต้องเผชิญในวันนี้ถ่ายทอดในนิทรรศการภาพถ่าย การแสดงทางวัฒนธรรม และเวทีเสวนาวิชาการ ในงานพหุวัฒนธรรมฟื้นฟูวิถีชีวิตกะเหรี่ยง ที่ไทยพีบีเอส กะเหรี่ยงกว่า 1000 คน ที่มาร่วมแสดงพลังในงานนี้ นอกจากส่งสัญญาณถึงปัญหาที่กลุ่มชาติพันธุ์เผชิญอยู่ ยังระดมทุนเพื่อจัดตั้งกองทุนสนับสนุนชีวิตและวัฒนธรรมกะเหรี่ยงโป่งลึก-บางกลอย หวังให้วัฒนธรรม และการแสดง สื่อสารให้คนนอกรับรู้และเข้าใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และยอมรับในการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรม


ข่าวที่เกี่ยวข้อง