"ซัลมาน รุสดี" ต้นแบบการใช้สื่อแสดงทัศนคติทางศาสนากลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง

Logo Thai PBS
"ซัลมาน รุสดี" ต้นแบบการใช้สื่อแสดงทัศนคติทางศาสนากลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง

แม้ห่างหายจากวงการวรรณกรรมไปนาน แต่ชื่อของ ซัลมาน รุสดี กลับเป็นที่สนใจอีกครั้งหลังการประท้วงในโลกมุสลิมต่อภาพยนตร์ลบหลู่ศาสดามูฮัมมัดลุกลามไปทั่วโลก เมื่อเขาถูกมองเป็นต้นแบบของการใช้สื่อเพื่อแสดงทัศนคติทางศาสนาที่สร้างกระแสการต่อต้านไปทั่วโลก

6 เดือนก่อนถูกหมายเอาชีวิต "ซัลมาน รุสดี" กำลังอยู่ในช่วงรุ่งโรจน์ในอาชีพนักเขียน เขากำลังมีผลงานเรื่องใหม่ที่หวังว่าจะสร้างความสำเร็จ เช่น Midnight's Children หนังสือรางวัลบุ๊กเกอร์ ไพรซ์ ปี 1981 หรือ Shame ที่ติดอันดับหนังสือขายดี เมื่อปี 1983 แต่การตีพิมพ์ของผลงานเล่มที่ 4 ที่ใช้เวลาเขียนถึง 5 ปีอย่าง The Satanic Verses หรือ โองการปีศาจ กลับเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตของเขาต้องผกผัน เมื่อเนื้อหาที่พาดพึงถึงศาสดามูฮัมมัดสร้างความไม่พอใจในโลกอิสลาม ทำให้เขาต้องใช้ชีวิตอย่างหลบซ่อนนานนับ 10 ปี

ซัลมาน รุสดี เกิดที่ประเทศอินเดียในครอบครัวมุสลิม ก่อนเดินทางมาศึกษาต่อในประเทศอังกฤษ ที่เคมบริดจ์  และได้ศึกษาประวัติศาตร์อิสลาม โดยสนใจในประเด็นข้อโต้แย้งในโลกมุสลิมเรื่องการมีอยู่ของ Satanic Verses ในคัมภีร์อัลกุรอาน ที่กล่าวถึง อัลลัท อัลอุซซา และมานาห์ เทพีนอกรีต 3 องค์ ซึ่งการนำเนื้อหาดังกล่าวมาเอ่ยถึง นอกจากขัดต่อความเชื่อของอิสลามแล้ว ใน The Satanic Verses ยังมีการล้อเลียนชื่อบุคคลและสถานที่สำคัญในศาสนาอิสลาม หนังสือเล่มนี้เข้ารอบสุดท้ายรางวัลบุคเกอร์ ไพรซ์ ในปี 1988 ที่อังกฤษ สร้างความไม่พอใจให้กับมุสลิมจนประท้วงด้วยการเผาหนังสือ ก่อนกระแสการต่อต้านจะลุกลามไปทั่วโลก กระทั่ง อายะตุลลอฮ์โคมัยนี อดีตผู้นำสูงสุดของอิหร่านได้ประกาศฟัตวา ให้มุสลิมร่วมกันประหารชีวิต ซัลมาน รุสดี เพื่อปกป้องอิสลามจากการถูกดูหมิ่น จนทางการอังกฤษต้องพาเขาไปซ่อนตัวพร้อมมีการอารักขานับแต่นั้น

ล่าสุด ซัลมาน รุสดี ได้เปิดตัวหนังสือบันทึกความทรงจำเรื่อง Joseph Anton: A Memoir เผยชีวิตที่ต้องอยู่ภายใต้การอารักขาของเจ้าหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้เขาสูญเสียอิสภาพ และล้มเหลวในชีวิตคู่ด้วยการหย่าร้างถึง 2 ครั้ง ในหนังสือยังเผยเรื่องราวการทำร้ายและการฆาตกรรมนักแปลที่พยายามเผยแพร่หนังสือเล่มนี้ รวมถึงเนื้อหาเบาสมองเรื่องแผนการของเจ้าหน้าที่ซึ่งช่วยให้เขาได้มีโอกาสใช้ชีวิตในสังคมอีกครั้ง เช่น พาไปชมภาพยนตร์รอบดึก และไปหาหมอฟัน ซึ่งทีมงานต้องช่วยกันตบตาด้วยการนำร่างเขาใส่ถุงห่อศพในสภาพไร้สติ และพาไปส่งโรงพยาบาลด้วยรถขนศพ

รุสดี เปิดใจกับสำนักข่าวบีบีซีว่า ความไม่พอใจส่วนใหญ่มาจากคนที่ไม่เคยอ่านงานเขียนของเขา และคาดว่าความรุนแรงจากการประท้วงที่เกิดขึ้นล่าสุด จะทำให้ไม่มีใครกล้าตีพิมพ์ผลงานที่วิพากษ์วิจารณ์ประเด็นทางศาสนาอีกในอนาคต ขณะที่อายะตุลลอฮ์อะลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่านกลับมาประกาศฟัตวากับรุสดีอีกครั้ง โดยเพิ่มค่าหัวเขาเป็น 3.3 ล้านดอลลาร์ โดยให้เหตุผลว่าหากเขาเสียชีวิตไปตั้งแต่การประกาศฟัตวาครั้งแรก จะเป็นตัวอย่างไม่ให้มีใครกล้าลบหลู่อิสลามเหมือนที่เป็นอยู่ในวันนี้ ซึ่งตัวรุสดีมองว่าเป็นเพียงคำขู่เพราะไม่มีหลักฐานว่ามีใครสนใจเงินค่าหัวของเขา แม้จะกังวลเรื่องแผนการลอบสังหาร แต่นักเขียนในวัย 65 ปีก็ขอใช้ชีวิตทุกวันนี้เยี่ยงอิสรชนโดยไม่ต้องหลบซ่อนด้วยความหวาดกลัวเหมือนที่เขาต้องเผชิญในอดีต


ข่าวที่เกี่ยวข้อง