สหรัฐฯตอบรับการปฏิรูปประเทศของพม่า ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรสินค้าที่ใช้มาเกือบ 10 ปี

ต่างประเทศ
27 ก.ย. 55
15:33
110
Logo Thai PBS
สหรัฐฯตอบรับการปฏิรูปประเทศของพม่า ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรสินค้าที่ใช้มาเกือบ 10 ปี

สหรัฐอเมริกาประกาศผ่อนปรนการคว่ำบาตรนำเข้าสินค้าจากพม่าที่ใช้เป็นมาตรการสำคัญในการกดดันอดีตรัฐบาลทหารพม่า ตลอดช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการตอบรับครั้งสำคัญของรัฐบาลสหรัฐฯต่อการเดินหน้าปฏิรูปพม่าสู่หนทางประชาธิปไตย ภายใต้การนำของพลเอกเต็ง เส่ง และด้วยแรงสนับสนุนของนางออง ซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านของพม่า

พล.อ.เต็ง เส่ง ประธานาธิบดีพม่า เดินทางเยือนสหรัฐอเมริกาเพื่อร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ และได้ร่วมหารือกับนางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ในบรรยากาศการพูดคุยที่อบอุ่น

ในการหารือครั้งนี้ ประธานาธิบดีพม่าได้มอบจดหมายเพื่อให้นางคลินตัน ส่งมอบต่อให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก่อนนางคลินตันจะแจ้งข่าวดีว่า รัฐบาลสหรัฐฯจะผ่อนปรนการคว่ำบาตรนำเข้าสินค้าจากพม่า ที่บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2546 เพื่อเป็นการแสดงการตอบรับต่อความพยายามของรัฐบาลพม่า ในการปฏิรูปประชาธิปไตยในประเทศ ซึ่งขั้นตอนต่อไป คือ การยกระดับความสัมพันธ์ด้านการค้าสู่ระดับปกติ แต่เตือนพม่าว่า ยังต้องปฏิรูปในอีกหลายด้าน เช่น การปล่อยตัวนักโทษการเมือง รวมทั้งยังเรียกร้องให้ตัดสัมพันธ์ทางทหารกับเกาหลีเหนือ

การเดินทางเยือนสหรัฐฯของผู้นำพม่า เกิดขึ้นในช่วงเดียวกับที่นางออง ซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้าน อยู่ระหว่างเดินสายในสหรัฐฯ โดยมีรายงานว่านางซูจี ได้เดินทางมาพบกับประธานาธิบดีพม่า ณ โรงแรมที่พักเมื่อคืนวันอังคาร(25 ก.ย.) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันดีของทั้ง 2 คน และมีการจับตาว่า ความร่วมมือระหว่างพล.อ.เต็ง เส่ง กับนางซูจี จะเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันการปฏิรูปประเทศ

<"">
<"">

 

มีรายงานว่าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย(พรรคเอ็นแอลดี) ของนางซูจี ออกมาแสดงการตอบรับต่อการยกเลิกคว่ำบาตรสินค้าพม่าโดยรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนชาวพม่าในระยะยาว รวมทั้งบอกว่า การยกเลิกคว่ำบาตรสินค้าพม่า เกิดขึ้นหลังมีการหารือ 3 ฝ่าย ระหว่างนางคลินตัน พล.อ.เต็ง เส่ง และนางซูจี ส่วนรองประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมพม่า ต่างยินดีต่อการประกาศของสหรัฐฯเช่นกัน

การปฏิรูปของพม่า จนได้รับการยอมรับจากสหรัฐฯในระดับหนึ่ง ยังส่งผลดีต่อเนื่อง เพราะมีรายงานว่า องค์กรด้านการเงินระหว่างประเทศ พร้อมจะกลับมาให้วงเงินกู้ยืมแก่พม่ารวมกว่า 3 หมื่นล้านบาท โดยผู้แทนธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ จะประชุมนอกรอบระหว่างการประชุมประจำปีของไอเอ็มเอฟ ในเดือนหน้า ที่กรุงโตเกียว ก่อนมีการประกาศอย่างชัดเจนอีกครั้ง

นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น และธนาคารพาณิชย์ญี่ปุ่น ก็พร้อมให้พม่ากู้ยืมเงินเพื่อแก้ปัญหาระยะสั้นเช่นกัน ซึ่งจะช่วยให้พม่านำเงินก้อนนี้ไปจ่ายหนี้คงค้างที่มีอยู่


ข่าวที่เกี่ยวข้อง