กสทช.ระบุ ปชช.ร้องเรียนกรณีโฆษณาอาหาร และยาเกินจริงมากที่สุด

สังคม
28 ก.ย. 55
11:09
97
Logo Thai PBS
กสทช.ระบุ ปชช.ร้องเรียนกรณีโฆษณาอาหาร และยาเกินจริงมากที่สุด

อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กสทช.ระบุ ประชาชนร้องเรียนกรณี โฆษณาอาหาร และยาที่เกินจริง มากที่สุด ในงานเสวนา “รู้ทันสื่อ ครอบงำ หรือ แฝงเนียน” ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

คณะนักศึกษาบัณฑิตย์ศึกษาสาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จัดเสวนาวิชาการในหัวข้อ "รู้ทันสื่อ ครอบงำ หรือ แฝงเนียน" ซึ่งในปัจจุบันการแฝงเนียนของสื่อในยุคทุนนิยม ทั้งด้านการตลาด เพศ และการสร้างคุณค่าผิดๆ ในสังคม ซึ่งผู้บริโภคสื่อควรมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง เสนอแนะ และตรวจสอบสื่อด้วย

<"">
  
<"">

ทั้งนี้ ผศ.กิตติ กันภัย ภาควิชาสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้คนสามารถรับสื่อได้อย่างง่ายดาย จึงจำเป็นที่ต้องรู้เท่าทันสื่อ การเลือกรับข่าวสาร และข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้มากที่สุด ซึ่งวิธีการรู้เพื่อเท่าทันสื่อที่สามารถทำได้ง่ายๆ คือการรับสื่อที่หลากหลาย และวิเคราะห์ จากเหตุการณ์จริงทุกครั้ง ทั้งนี้เห็นว่า นักสื่อสารมวลชน ควรยึดมั่นในหลัก จริยธรรม และจรรยาบรรณ ในการนำเสนอข่าวสารแต่ละครั้งด้วย

ด้าน น.ส.สฤนี อาชวานันทกุล อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ในปัจจุบันสถานการณ์สื่อเปลี่ยนไป ทักษะการรู้เท่าทันสื่อปัจจุบันเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะสื่อใหม่ หรือสื่อทางเลือกบนโซเชี่ยลมีเดีย ที่มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ชาวบ้านตามต่างจังหวัดจะไว้วางใจสื่อโทรทัศน์สูงมากเช่น ข่าวสาร และโฆษณา ต่างๆ ที่ออกอากาศทางโทรทัศน์ ชาวบ้านจะคิดว่าเชื่อถือได้ เนื่องจากโฆษณาตามโทรทัศน์ จะต้องผ่านคณะกรรมการตรวจสอบมาก่อนแล้ว จึงจะออกอากาศได้ ประชาชนจึงจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะรู้เท่าทันสื่อมากตามไป

ทั้งนี้ น.ส.สฤณี ระบุว่า กรณีที่ประชาชนร้องเรียนกับ กสทช.มากที่สุด จะเป็นเรื่องการโฆษณาอาหาร และยาที่เกินจริง จนทำให้เกิดผลกระทบที่ตามมามากมาย เช่นการโฆษณายาที่สามารถรักษาได้ทุกโรคตามสื่อวิทยุชุมชน และกรณีเนื่อหารายการที่บิดเบือนความจริง ส่วนมากจะเป็นช่องที่มีผลมาจากการเมือง ที่มีการยั่วยุ หรือปลุกปั่นประชาชน ซึ่งผู้บริโภคควรจะเลือกที่จะรับ และเชื่อในสื่อต่างๆ ด้วย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง