10 วันแผ่นดินไหวเนปาล ถึง 1 ปีแผ่นดินไหวเชียงราย นักวิชาการชี้ แผ่นดินไหวเนปาลไม่ทำให้รอยเลื่อนพะเยามีพลังมากขึ้น

สังคม
5 พ.ค. 58
09:25
467
Logo Thai PBS
10 วันแผ่นดินไหวเนปาล ถึง 1 ปีแผ่นดินไหวเชียงราย นักวิชาการชี้ แผ่นดินไหวเนปาลไม่ทำให้รอยเลื่อนพะเยามีพลังมากขึ้น

การช่วยเหลือกู้ภัยเหตุแผ่นดินไหวในประเทศเนปาลยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและในวันนี้ (5 พฤษภาคม 2558) เข้าสู่วันที่ 10 ของเหตุแผ่นดินไหวเนปาลและในวันเดียวกันนี้ยังเป็นวันครบ 1 ปีเหตุการณ์แผ่นดินไหวใน จ.เชียงราย ซึ่งถือเป็นแผ่นดินไหวครั้งใหญ่และรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ที่สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนและผู้คนเป็นวงกว้าง แต่นักวิชาการยืนยันว่าแผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่เนปาล ไม่ส่งผลต่อรอยเลื่อนพะเยาที่เป็นสาเหตุแผ่นดินไหวเชียงรายให้ไหวถี่ขึ้นหรือรุนแรงขึ้น

ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุงพงษ์สกุล หัวหน้าหน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อมูลสารสนเทศเชิงพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ระบุว่า  เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เนปาลไม่น่าจะมีผลกระทบต่อกลุ่มรอยเลื่อนของไทย โดยเฉพาะรอยเลื่อนพะเยาที่เป็นสาเหตุแผ่นดินไหวที่ อ.พาน จ.เชียงราย เมื่อปีที่แล้ว (2557) เนื่องจากกลุ่มของรอยเลื่อนบริเวณดังกล่าวไม่มีความสัมพันธ์กับรอยเลื่อนของไทย อย่างเมื่อปี  2547 เกิดแผ่นดินไหวบริเวณเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย ขนาด 9.1 จนทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิที่ฝั่งอันดามันของไทยบริเวณนั้นเป็นแนวทิศที่แรงส่งผลโดยตรงต่อรอยเลื่อนในประเทศไทยและอยู่ใกล้กว่า ก็ยังไม่มีผลกระทบต่อรอยเลื่อนต่าง ๆ

นอกจากนี้ เหตุแผ่นดินไหวในพื้นที่จะเชียงรายยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ หรืออาจจะในอีกหลาย 10 ปีที่อาจจะเกิดขึ้น เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีรอยเลื่อนจำนวนมาก ซึ่งไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า รอยเลื่อนในแต่ละจุดมีการสะสมพลังงานไว้ปริมาณเท่าใดและจะปลดปล่อยออกมาเมื่อใด สิ่งที่ทำได้จึงเป็นเพียงการเตรียมพร้อมรับมือ และหากเกิดแผ่นดินไหวขึ้นอีกก็มีแนวโน้มว่าจะไม่รุนแรงเหมือนกับเหตุแผ่นดินไหวที่ประเทศเนปาลซึ่งความรุนแรงมากที่สุดจะอยู่ที่ขนาด 5 -6  ทั้งนี้ความรุนแรงยังคงสัมพันธ์กับความลึกด้วย ซึ่งหากเกิดในความลึกที่มากความเสียหายก็ไม่มาก แต่ในเหตุแผ่นดินไหวในจังหวัดเชียงรายเมื่อปีที่แล้ว (2557) เกิดบริเวณที่ไม่ลึกจึงได้รับความเสียหาย

1 ปีแผ่นดินไหวเชียงราย : เรียนรู้และรับมือ

เมื่อเวลา 18.08 น. ของวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดรุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี  จุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหวอยู่บริเวณ ต.ทรายขาว อ.พาน จ.เชียงราย ขนาด 6.3  ประชาชนหลายร้อยครัวเรือนไม่ทันได้เตรียมพร้อมรับมือ แรงสั่นสะเทือนส่งผลทำให้ 7 อำเภอ 50 ตำบล 609 หมู่บ้าน ได้รับความเสียหาย รวมทั้ง โบราณสถาน สถานที่ราชการ เส้นทางคมนาคมและบ้านเรือนของประชาชนในพื้นที่ แรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวสามารถรู้สึกได้ในหลายพื้นที่ทั้งภาคเหนือและภาคอีสานโดยเฉพาะบริเวณ จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ จ.ลำพูน จ.ลำปาง จ.น่าน จ.พะเยา จ.เลย จ.หนองคาย รวมทั้งอาคารสูงใน จ.กรุงเทพมหานคร ซึ่งหลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวก็ยังมีอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกหลายร้อยครั้ง

ข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า แผ่นดินไหวเกิดขึ้นจากการเคลื่อนตัวของกลุ่มรอยเลื่อนพะเยา ซึ่งเป็นหนึ่งในรอยเลื่อนมีพลังทางภาคเหนือ ประกอบด้วยรอยเลื่อนย่อย 2 คือ รอยเลื่อนย่อยแม่ลาว พาดผ่าน อ. เมือง อ.แม่ลาว อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ซึ่งบริเวณนี้มีแผ่นดินไหวขนาดเล็กถึงปานกลางบ่อยครั้งในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา และรอยเลื่อนย่อยวังเหนือ  ส่วนของรอยเลื่อนนี้มีความยาวประมาณ 35 กิโลเมตร ตัดผ่านทิศตะวันตกของขอบแอ่งพะเยาบริเวณรอยต่อระหว่าง อ.พาน จ.เชียงราย อ.วังเหนือ จ.ลำปางและอ.เมือง จ.พะเยา ซึ่งเคยเกิดแผ่นดินไหวมาแล้วเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2537 โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ขนาด 5.1  สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนเป็นจำนวนมาก

นายนำพล ใหม่วงศ์ ประชาชนในตำบลเจริญเมือง อ. พาน จ. เชียงราย ได้เล่าถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า “วันนั้นไม่มีเหตุการณ์อะไรที่บอกให้รู้ล่วงหน้าเลย อยู่ๆแผ่นดินก็ไหว บ้านสะเทือน ของในบ้านแตกกระจัดกระจาย ได้รับความเสียหายหลายอย่าง ที่บ้านเป็นกึ่งไม้กึ่งปูนมีรอยร้าวหลายจุด  ทุกคนที่บ้านรู้สึกตกใจมากเพราะไม่เคยมีเหตุการณ์แผ่นดินไหวแรงเท่านี้มาก่อน ไม่ได้เตรียมรับมือเอาไว้  ช่วงแรกไม่กล้าเข้าไปนอนในบ้านเพราะกลัวบ้านจะถล่ม  ต้องไปกางเต็นท์นอนรวมกันที่สนามฟุตบอลของโรงเรียน”   นายนำพลกล่าว

นายนำพลยังระบุว่า จนถึงขณะนี้ในหมู่บ้านไม่ได้มีการเรียกประชุมถึงการรับมือแผ่นดินไหวว่าจะดำเนินการเย่างไร จะเฝ้าระวังเช่นไร ชาวบ้านทำได้เพียงเฝ้าระวังติดตามข่าวผ่านทางโทรทัศน์ด้วยตนเองมากกว่าและเตรียมการเก็บข้าวของไว้ในที่ปลอดภัยโดยไม่วางไว้ในที่สูง

ด้าน รศ. ดร.ปัญญา จารุศิริ ภาคธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลกับ”ไทยพีบีเอสออนไลน์”ว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เชียงราย เมื่อปี 2557 ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงเพราะจุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหวอยู่ในระดับตื้น จึงทำให้การส่งผ่านพลังงานมาถึงพื้นผิวดินเป็นไปอย่างรวดเร็ว

สิ่งที่ประชาชนน่าจะได้เรียนรู้จากแผ่นดินไหวที่เชียงราย อย่างแรกก็คงจะเป็นวัฒนธรรมการสร้างบ้านเรือน จากการที่ได้เข้าไปสำรวจพื้นที่ที่เกิดแผ่นดินไหวมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ของบ้านไม้อยู่รอด ในขณะที่บ้านตึกหรือบ้านปูนมีประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ที่รอด ในอนาคตก็มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวเกิดขึ้นได้อีก อาคารและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ควรที่จะสร้างให้สามารถรับแรงแผ่นดินไหวตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อลดความสูญเสียหากเกิดแผ่นดินไหวร้ายแรง

ในอนาคตเหตุการณ์แผ่นดินไหวน่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้อีก เพียงแต่ว่ามันน่าจะเกิดขึ้นตรงที่ไม่ได้เป็นแขนงรอยเลื่อนนั้น ๆ ที่มันเคยเลื่อนตัวไปแล้ว มันจะไม่เกิดซ้ำที่ ส่วนแขนงรอยเลื่อนอื่น ๆ ก็ต้องเตรียมรับมือ ผู้ที่อยู่ใกล้รอยเลื่อนที่มันไม่เคยเกิดก็ต้องระมัดระวังใช้กรณีศึกษาที่มันเคยเกิดขึ้นให้ได้” รศ.ดร.ปัญญากล่าว

ประชาชนที่อาศัยอยู่ในรอยเลื่อนมีพลังพาดผ่าน ควรศึกษาทำความเข้าใจรอยเลื่อนที่พาดผ่านหมู่บ้าน หรือจังหวัดที่ตนเองอาศัยอยู่เพื่อเตรียมพร้อมรับมือหากมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งไม่สามารถที่จะคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดขึ้นที่ไหนหรือเมื่อใด รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความรู้กับประชาชนว่า รอยเลื่อนมีพลังพาดผ่านจังหวัดหรือหมู่บ้านใดบ้าง การวางผังเมืองก็ต้องมีการวางแผนว่าไม่ควรมีการขยายเมืองไปยังบริเวณที่มีรอยเลื่อนพาดผ่าน เช่น เขื่อน และสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ รศ.ดร.ปัญญา กล่าวทิ้งท้าย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง