ปชช.เรียกร้องกทม.ลดการระบายน้ำฝั่งตะวันออก แก้ปัญหาน้ำท่วมขัง

สังคม
3 ต.ค. 55
14:55
77
Logo Thai PBS
ปชช.เรียกร้องกทม.ลดการระบายน้ำฝั่งตะวันออก แก้ปัญหาน้ำท่วมขัง

ผู้ที่อาศัยทางฝั่งตะวันออกและตอนเหนือของกรุงเทพมหานคร เรียกร้องให้กรุงเทพมหานครรับน้ำเพิ่มขึ้นและระบายน้ำไปทางฝั่งตะวันออกให้น้อยลง เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ ขณะที่นักวิชาการด้านการจัดการน้ำเสนอให้กรุงเทพมหานคร จัดการปัญหาเรื่องคลองที่ไม่สมดุลกับการสูบน้ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วมที่เกิดจากฝนตกหนักจากพายุโซนร้อนแกมี

<"">
<"">

แม้ขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายเร่งระบายน้ำในกรุงเทพมหานครไปทางฝั่งตะวันออกมากขึ้น แต่ฝนตกหนักต่อเนื่องทั้งในกรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นครนายก ฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี ที่อยู่ติดต่อกัน ทำให้การระบายน้ำไปทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานครทำได้ยากขึ้น เพราะจังหวัดทางฝั่งตะวันออกเป็นพื้นที่สูงกว่ากรุงเทพมหานคร จึงต้องสูบน้ำเข้าไปในพื้นที่ชาวบ้านในเขตหนองจอก และลาดกระบัง ที่มีน้ำท่วมสูง 30 -50 ซม.มากว่า 1 เดือนแล้ว ทำให้ชาวบ้านไม่พอใจและพยายามกดดันให้สถานีสูบน้ำของกรมชลประทานระบายน้ำให้น้อยลงกว่าเดิม

ขณะที่ชาวอำเภอลำลูกกา จ.ปทุมธานี เรียกร้องให้กรุงเทพมหานครเปิดประตูระบายน้ำพระยาสุเรนทร์ ลำหม้อแตก และคลองสายไหม จากระดับเดิมที่เปิด 30 ซม.ให้เพิ่มขึ้นเป็น 50 ซม.หลังจากฝนตกหนักติดต่อกันเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้น้ำท่วมขังในชุมชนเน่าเสีย

ขณะนี้ระดับน้ำในคลอง 2 คลอง 3 และคลอง 4 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ชาวบ้านจึงกังวลว่า ถ้าเกิดฝนตกตกหนักในวันที่ 6-7 ตุลาคมนี้ ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ไว้ จะทำให้น้ำคลองต่างๆ เอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่อำเภอลำลูกกา กว่า 10 ชุมชน

ชาวอำเภอลำลูกกา กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ขุดลอกคลอง 2 คลอง 3 และคลอง 4 รวมทั้งท่อระบายน้ำในชุมชน จึงต้องการให้กรุงเทพมหานครเปิดประตูน้ำ ภายใน 3 วัน ถ้ากรุงเทพมหานครยังไม่ดำเนินการ ก็จะรวมตัวกันไปพบผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครด้วยตัวเอง

ส่วน รศ.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอว่า การระบายน้ำกรุงเทพมหานครขณะนี้มีปัญหา เพราะยังมีข้อจำกัดในเรื่องของคลองที่ไม่สมดุลกับการสูบน้ำ โดยเฉพาะฝั่งตะวันออก จึงต้องหาทางให้น้ำไหลไปทางเครื่องสูบน้ำและหาที่อยู่ให้น้ำ รวมถึงการขยายท่อระบายน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหา

สำำหรับพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมขังในช่วง 2 สัปดาห์นี้ คือ พื้นที่ฝั่งตะวันออก เช่น คลองพระยาราชมนตรี คลองพิทยาลงกรณ์ คลองทวีวัฒนา และพื้นที่บางแค ส่วนฝั่งตะวันออก คือ ที่คลองสองวา คลองสามวา คลองประเวศบุรีรมย์ พื้นที่มีนบุรี ลาดพร้าว และพระโขนง

วันนี้ (3 ต.ค) ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เรียกประชุมด่วนผู้อำนวยการเขตทั้ง 50 เขต เพื่อเตรียมพร้อมรับมือพายุโซนร้อนแกมีที่จะเข้าสู่ประเทศไทยระหว่างวันที่ 5-7 ตุลาคมนี้ และทำให้กรุงเทพมหานครมีฝนตกมากถึงร้อยละ 80 ของพื้นที่ รวมทั้งหาแนวทางแก้ปัญหาชุมชนนอกคันกั้นน้ำระยะยาว

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยังได้กำชับให้ผู้อำนวยการทุกเขต เตรียมบุคคลากรและอุปกรณ์ไว้พร้อมรับสถานการณ์ หากเกิดเหตุน้ำท่วมขังในพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะชุมชนนอกคันกั้นน้ำ 27 ชุมชน รวมถึงจุดอ่อนน้ำท่วมขัง 200 จุดของกรุงเทพมหานคร


ข่าวที่เกี่ยวข้อง