เส้นทางการเมืองของ "เดวิด แคเมอรอน"

ต่างประเทศ
5 พ.ค. 58
15:24
401
Logo Thai PBS
เส้นทางการเมืองของ "เดวิด แคเมอรอน"

สหราชอาณาจักรจะยังล่มหัวจมท้ายไปกับสหภาพยุโรปหรือไม่เรื่องนี้ผูกติดกับการเลือกตั้งอย่างมีนัยสำคัญ การประกาศว่าจะให้ลงประชามติของเดวิด คาเมรอน แม้จะเป็นนโยบายหาเสียงที่โดดเด่น แต่ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา แคเมอรอนในฐานะผู้นำรัฐบาลผสม ก็มีหลายนโยบายที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ความหวังจะกลับมาสมัยที่ 2 อาจไม่เรื่องง่ายสำหรับพรรคอนุรักษ์นิยม ติดตามกับคุณพงศธัช สุขพงษ์

"สิ่งต่างๆ เหล่านี้นำเราไปสู่ความปั่นป่วนในตอนแรก พวกเราไม่ช่วยผู้ใช้แรงงาน พวกเราทำให้ผู้ใช้แรงงานเจ็บปวด นั่นเป็นสิ่งที่พรรคเลเบอร์ทำในครั้งก่อน และเราต้องไม่ยอมให้มันเกิดขึ้นอีกเป็นอันขาด" ท่าทีที่มั่นใจของเดวิด แคเมอรอน นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟ หรือ พรรคอนุรักษ์นิยม ในระหว่างการโต้อภิปรายร่วมกับหัวหน้าพรรคการเมืองอื่นๆ ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปที่จะจัดขึ้นในวันที่7 พฤษภาคมนี้ แสดงให้เห็นความมุ่งมั่นของผู้นำอังกฤษที่ต้องการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อเป็นสมัยที่ 2

แคเมอรอนขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2553 พร้อมกับคำมั่นที่จะลดการขาดดุลการค้าของประเทศ หลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก เมื่อปี 2551 การเลือกตั้งในปี 2553 พรรคคอนเซอร์เวทีฟไม่ได้ครองเสียงข้างมากทำให้ต้องจัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรคลิเบอรัล เดโมแครตส์ หรือ พรรคเสรีนิยมประชาธิปไตย โดยให้นิค เครก หัวหน้าพรรคดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี

รัฐบาลผสมประสบปัญหาหลังใช้มาตรการรัดเข็มขัดเพื่อลดการขาดดุลงบประมาณที่สูงเป็นประวัติการณ์ จากร้อยละ 11 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติลดลงเหลือร้อยละ 2.1 ภายในปี 2558 ทำให้ชาวอังกฤษจำนวนมากออกมาเดินขบวนประท้วงต่อต้านการใช้มาตรการดังกล่าวแต่แคเมอรอนปกป้องมาตรการรัดเข็มขัดและยืนยันว่ามาตรการทางเศรษฐกิจที่เข้มงวดได้ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้รอดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำตลอดระยะเวลาที่เขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

แม้รัฐบาลผสมจะถูกวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับมาตรการเศรษฐกิจแต่ภาพลักษณ์ของพรรคคอนเซอร์เวทีฟที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ทันสมัยขึ้นก็ทำให้แคเมอรอนได้รับคำชมเชยเช่นกัน เมื่อหันมามองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับสหรัฐอเมริกายังคงเป็นความสัมพันธ์แบบพิเศษ ถึงขนาดที่ครั้งหนึ่งประธานาธิบดีบารัค โอบามา ใช้สรรพนามเรียกแคเมอรอนว่า "น้องชาย"

แต่ความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรปกลับเป็นไปอย่างลุ่ม ๆ ดอน ๆ หลังจากแคเมอรอนแสดงท่าทีชัดเจนในการกีดกันผู้อพยพชาวต่างชาติซึ่งขัดกับนโยบายเคลื่อนย้ายแรงงานโดยเสรีของสหภาพยุโรป เพื่อเป็นการจูงใจฝ่ายต่อต้านสหภาพยุโรปในพรรคของตัวเอง แคเมอรอน รับปากว่า ถ้าชนะการเลือกตั้งทั่วไปในครั้งนี้ เขาจะจัดการลงประชามติถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป ภายในปี 2560

สิ่งที่น่าจับตามองในการเลือกตั้งครั้งนี้ คือท่าทีของคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่แสดงความพอใจต่อการบริหารงานด้านเศรษฐกิจของแคเมอรอนที่มีแนวโน้มดีขึ้น

ผศ.ณัฐนันท์ คุณมาศ อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า ท่าทีของผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟอาจเป็นการชี้นำให้ชาวอังกฤษหันมาลงคะแนนให้พรรคคอนเซอร์เวทีฟในการเลือกตั้งครั้งนี้

เส้นทางทางการเมืองของเดวิด แคเมอรอนและพรรคคอนเซอร์เวทีฟในการเลือกตั้งทั่วไปที่จะจัดขึ้นในวันที่ 7 พฤษภาคมนี้เป็นสิ่งที่ประชาคมโลกต่างเฝ้าจับตามอง เพราะผลการเลือกตั้งครั้งนี้จะชี้ชะตาการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับสหภาพยุโรปในอนาคตได้เป็นอย่างดี

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง