สารพัดโรคสมัยใหม่ ที่ยังไร้...“วัคซีน”

สังคม
9 ต.ค. 55
12:06
452
Logo Thai PBS
สารพัดโรคสมัยใหม่ ที่ยังไร้...“วัคซีน”

ยุคที่เทคโนโลยีอยู่รายล้อมรอบตัวเด็กๆ รุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์อินเตอร์เน็ต หรือโทรศัพท์ประเภทสมาร์ทโฟน ซึ่งทำให้การเรียนรู้จากโลกทั้งใบอยู่แค่ปลายนิ้วสัมผัส...

 นพ.พินิจ ฟ้าอำนวยผลสำนักงานพัฒนา ระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ กล่าวว่า ปัญหาติดเกมและเล่นการพนันออนไลน์กำลังกลืนกินเด็กทั่วโลกรวมถึงเด็กไทย ด้วยความที่เติบโตมากับเทคโนโลยีทำให้เด็กยุคนี้เชี่ยวชาญและคุ้นเคยกับการใช้อินเตอร์เน็ตเป็นอย่างดีส่งผลให้การเข้าถึงแหล่งอบายมุขในโลกออนไลน์ไม่ใช่เรื่องยาก

 
 
ที่สำคัญคือ พ่อแม่จำนวนมากไม่มีโอกาสได้รับรู้ว่า “ลูกกำลังติดเกม” หรือ “ลูกกำลังเล่นพนัน” เพราะทุกอย่างเป็นความลับที่ถูกซ่อนเร้นอยู่ในคอมพิวเตอร์ภายในห้องนอนส่วนตัว...
 
ปัจจุบันการพนันแบบออนไลน์เป็นที่นิยมมากในกลุ่มเด็กและวัยรุ่นในหลายประเทศทั่วโลก โดยกฎหมายในบางประเทศเปิดช่องว่างให้การพนันออนไลน์บางชนิดไม่ผิดกฎหมาย และอุตสาหกรรมการเล่นพนันมักมุ่งเป้าหมายการโฆษณาไปที่กลุ่มเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี บางเว็บไซต์เปิดให้บริการกู้เงินได้ทำให้เด็กจำนวนมากเล่นพนันแบบออนไลน์ได้แม้ไม่มีเงินในกระเป๋าตัวเองก็ตาม
 
ปัจจุบันสัดส่วนของเด็กไทยยังเป็นกลุ่มที่ติดเกมมากกว่าการพนัน แต่การพนัแบบออนไลน์ก็มีแนวโน้มได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เด็กที่ติดเกมหรือการเล่นพนัน มักเริ่มจาก “ความสนุก” นานวันเข้า จนกลายเป็นความคลั่งไคล้ และครุ่นคิด บางรายติดอยู่ในขั้นรุนแรงไม่ทานข้าว ไม่เรียนหนังสือ และกิจกรรมในชีวิตประจำวันหายไป
 
เปรียบได้ดังโรคร้ายที่เมื่อถลำก้าวถึงขั้น “ติด” จะส่งผลกัดกินชีวิต บั่นทอนทั้งสุขภาพกาย ใจ และความสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้างซ้ำร้ายกว่านั้น ทั้งเกมและการพนันเป็นเหตุปัจจัยสำคัญที่อาจนำเยาวชนไปสู่การก่ออาชญากรรมร้ายแรงในอนาคต
 
 
ด้วยเหตุนี้การติดเกมและการพนัน จึงเปรียบเสมือน “โรคทางสังคม” แห่งยุคปัจจุบัน...วิถีชีวิตป่วน เพราะโรคทางสังคม“เด็กติดเกม” เป็นปัญหาทางสังคมที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
 
จากการสำรวจพฤติกรรมการเล่นเกมออนไลน์รูปแบบต่างๆ ของเด็กไทยทั่วประเทศ ปี2554 พบว่า มีสัดส่วนเด็กที่ติดเกมมากถึง ร้อยละ 58.3 โดยเฉพาะ กรุงเทพฯ มีมากถึง ร้อยละ 78.4
 
การศึกษาวิจัยชี้ว่า เกมส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมในทางลบ อาทิสุขภาพอ่อนแอเพราะไม่มีเวลาไปออกกำลังกายและไม่ทานข้าว ผลการเรียนต่ำลงเพราะไม่อ่านหนังสือและไม่ทำการบ้าน รวมถึงความสัมพันธ์ในครอบครัวอ่อนแอลง เพราะใช้เวลาร่วมกันน้อยลง เป็นต้น
 
อารมณ์ร้ายของเด็กติดออนไลน์
 
ผลจากการเล่นเกมมากเกินไปส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองและอารมณ์อย่างมาก นอกจากทำให้ขาดการเรียนรู้ประสบการณ์ที่เหมาะสมกับวัยแล้ว ยังส่งผลต่อพฤติกรรมโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นความก้าวร้าว ไม่สามารถควบคุมตนเองได้และที่สำคัญคือ เด็กเหล่านี้จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ขาดสติไม่มี ความยับยั้งชั่งใจ ไร้ประสิทธิภาพ และใช้อารมณ์เป็นสิ่งกำหนดการกระทำ
 
ในบางรายมีพฤติกรรมรุนแรงถึงขั้นก่ออาชญากรรม อาทิเด็กทำร้าย ตำรวจที่ห้ามเล่นเกม ปล้นและฆ่า เนื่องจากพฤติกรรมเลียนแบบเกม หรือบางครั้งทำร้ายตนเองถึงขั้นฆ่าตัวตาย เพื่อประชดพ่อแม่ที่ห้ามเล่นเกม
 
จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี2553 พบว่า ร้อยละ 54.4เป็นเกมที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับความรุนแรง อาทิ การต่อสู้ ปล้นฆ่า หรือ กระทำอนาจาร เป็นต้น ซึ่งเป็นปัจจัยโน้มนำให้เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว และชอบความรุนแรง อายุน้อย ยิ่งเสพยิ่งเสี่ยง อาจกล่าวได้ว่าเด็กที่ติดเกมและการพนันมักมีอาการคล้ายติดยาเสพติด  มีพฤติกรรมหมกหมุ่นและครุ่นคิดตลอดเวลา โดยอาการ “การเสพติด” หากเริ่มข้องเกี่ยวกับอบายมุขทั้งสองประเภทนี้ตั้งแต่วัยเยาว์จะมีโอกาสกลาย เป็นผู้ใหญ่ที่ติดเกมและพนันในอนาคต
 
ศ.ดร.เสริน ปุณณะหิตานนท์ นักวิชาการอาวุโสผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญาวิทยาและทัณฑวิทยา ชี้ข้อมูลในประเด็นที่สอดคล้องกันคือ เด็กที่เล่นเสี่ยงโชคตั้งแต่วัยเยาว์ ระดับความรุนแรงและโอกาสในการเล่นพนันจะเพิ่มมากขึ้นตามอายุ
 
นอกจากนี้ ปัจจัยด้านอายุยังส่งผลต่อปัญหาสุขภาพจิตของผู้เล่นโดยตรง จากการศึกษาด้านสุขภาพจิตของกลุ่มตัวอย่างที่เล่นพนัน ในวารสารบริการทางจิตเวช ประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ปัญหาทางจิตเวชที่เกิดขึ้นในกลุ่มบุคคล เกิดจากการเล่นพนันเมื่ออายุยังน้อย
 
เกม การพนัน ยาเสพติด สามสิ่งอันตรายที่พบได้ในร้านเกม

ปัจจุบันร้านเกมและอินเตอร์เน็ตเป็นอีกจุดนัดพบยอดนิยมสำหรับกลุ่มวัยรุ่น และกลายเป็นแหล่งมั่วสุมที่ผู้ปกครองต้องเฝ้าระวังอย่างมากเพราะนอกจากผลกระทบจากการติดเกมขั้นรุนแรงแล้ว วัยรุ่นบางส่วนยังอาจกลายเป็นติดการเล่นพนันแบบออนไลน์ด้วย
 
ปัจจัยที่ทำให้การพนันประเภทนี้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เกิดจากพฤติกรรมของวัยรุ่นที่รักสนุกและแสวงหาความตื่นเต้นจากการเล่นเสี่ยงโชคบางครั้งเห็นเพื่อนเล่นก็เลียนแบบทำให้เล่นตามกัน 
 
นอกจากนี้ ในโลกออนไลน์ผู้เล่นไม่จำเป็นต้องบรรลุนิติภาวะ มีช่องทางที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายและโอกาสที่จะถูกตำรวจจับได้มีน้อย  ภัยอันตรายอีกประการ คือ ยาเสพติด จากการศึกษาร้านเกมและอินเตอร์เน็ตทั่วประเทศ เมื่อปี2553 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า  ร้านเกมและอินเตอร์เน็ตเป็นแหล่งในการซื้อขายยาเสพติดที่สำคัญ โดยร้อยละ 9 ระบุว่าเป็นแหล่งมั่วและเสพยาเสพติด และ ร้อยละ 5.9 ระบุว่า สามารถซื้อขายยาเสพติดได้ในร้านประเภทนี้ปัญหาเด็กติดเกมและการพนันเป็นปัญหาที่มักเกิดขึ้นกับเด็กในเมือง เพราะพ่อแม่มักวางใจให้“สื่อเทคโนโลยี” ทำหน้าที่เลี้ยงลูกแทน 
 
ดังนั้น หนทางที่ช่วยให้ลูกหลานของเราพ้นจาก “โรคทางสังคม” ได้พ่อแม่ต้องให้เวลาและดูแลเอาใจใส่ลูกอย่างใกล้ชิด จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันภัยทางสังคมให้แก่เด็กได้อย่างแน่นอน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง