นักเขียนจีนคว้าโนเบลสาขาวรรณกรรม

Logo Thai PBS
นักเขียนจีนคว้าโนเบลสาขาวรรณกรรม

แม้สร้างชื่อในฐานะเป็นชาวจีนคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมคนล่าสุด แต่ โม่เหยียน กลับไม่เป็นที่ยอมรับในวงการวรรณกรรม เหตุเพราะถูกมองว่าเป็นนักเขียนที่อ่อนข้อให้กับทางการจีน

เรื่องราวสไตล์ชวนฝันถ่ายทอดชีวิตชาวบ้านในชนบทที่ต้องทนทุกข์ในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม ทั้งยังถูกรุกรานจากญี่ปุ่น ในภาพยนตร์ Red Sorghum ผลงานเปิดตัวในฐานะผู้กำกับของ จางอี้โหมว สร้างจากวรรณกรรมเรื่องเด่นของ โม่เหยียน นักเขียนชาวจีน ที่มีเอกลักษณ์ในการใช้มโนภาพสะท้อนความเป็นจริงได้อย่างแยบยล นักเขียนคนดังได้รับเลือกโดยสถาบัน Swedish Academy ให้เป็นผู้ครองรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ประจำปีนี้

โม่เหยียน ได้รับอิทธิพลด้านการเขียนจากวรรณกรรมคลาสสิกของจีน และพัฒนาไปสู่แนวสัจนิยม โดยใช้ชั้นเชิงเปรียบเปรย ถ่ายทอดปัญหาสังคมจากความขัดแย้งระหว่างประเพณีนิยมกับสมัยนิยม ทั้งนโยบายลูกคนเดียวที่นำไปสู่การทำแท้งอย่างไม่เต็มใจ สตรีที่ต้องมีชู้เพื่อหาทายาทให้พ่อแม่ฝ่ายชาย และการประท้วงของชาวนาต่อการฉ้อราษฎร์บังหลวง หลายเรื่องยังผ่านสายตาผู้ชมบนแผ่นฟิล์ม ทั้ง Red Sorghum ซึ่งคว้าหมีทองคำที่เบอร์ลินเมื่อปี 1988 Happy Times เรื่องราวความสัมพันธ์ของหนุ่มใหญ่กับเด็กสาวตาบอด และ Nuan หนังชีวิตปี 2003 เรื่องราวชายหนุ่มผู้กลับไปเจอคนรักเก่าที่แต่งงานกับคนใบ้

โม่เหยียน เป็นนามปากกา มีความหมายว่า ห้ามพูด มาจากคำสั่งสอนของพ่อแม่ที่ห้ามเขาแสดงความเห็นที่อาจเป็นภัยต่อตนเอง  ซึ่งนักเขียนคนดังยึดถือเป็นแนวทางตลอดมา แม้ว่างานเขียนของเขาจะนำปัญหาของประชาชนมาตีแผ่ แต่การได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรมครั้งนี้ กลับไม่เป็นที่ยอมรับนักในแวดวงวรรณกรรม เพราะโม่เหยียน ซึ่งเป็นรองประธานสมาคมนักเขียนจีนกลับช่วยเหลือรัฐบาลเซ็นเซอร์งานของนักเขียนร่วมชาติ โดย ยู้เจี๋ย นักเขียน และนักเคลื่อนไหว กล่าวว่า การมอบรางวัลนี้แสดงให้เห็นว่าตะวันตกยังละเลยต่อปัญหาสิทธิมนุษยชนในจีน ขณะที่ อ้ายเหว่ย ศิลปินคนดัง กล่าวว่า เป็นการมอบรางวัลของสถาบันที่ไม่คำนึงถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคมจีน

รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมใน 111 ครั้งที่ผ่านมา มักถูกวิจารณ์ว่ามีอคติในการมอบรางวัล ซึ่งส่วนใหญ่ให้กับผลงานของนักเขียนยุโรป โดยมีนักเขียนเอเชียเพียง 4 คนที่ได้รับรางวัลนี้ ได้แก่ รพินทรนาถ ฐากูร, คาวาบาตะ ยาสุนาริ และ เคนซาบุโร โอเอะ ขณะที่ เกาสิงเจี้ยน นักเขียนจีนซึ่งได้รับรางวัลนี้เมื่อปี 2000 ก็ไม่ได้รับการยอมรับจากทางการจีน เนื่องจากเป็นเห็นว่าเป็นนักเขียนที่ลี้ภัยทางการเมือง และได้โอนสัญชาติเป็นชาวฝรั่งเศส


ข่าวที่เกี่ยวข้อง