ย้อนรอย 2 ปี กสทช.เดินหน้าประมูลคลื่น 3 จี

13 ต.ค. 55
14:31
56
Logo Thai PBS
ย้อนรอย 2 ปี กสทช.เดินหน้าประมูลคลื่น 3 จี

แม้จะเป็นวันหยุดแต่สำนักงานกสทช. ยังเดินหน้ากระบวนการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ 3 จี ตามกำหนดต่อเนื่อง ก่อนจะถึงวันเคาะราคาประมูลในวันที่ 16 ต.ค.นี้ โดยวันนี้ (13 ต.ค.) มีบริษัทผู้มีสิทธิ์ร่วมประมูลทั้ง 3 ราย ดูสถานที่ประมูลส่วนต่างๆ พร้อมทดสอบระบบซอฟต์แวร์

<"">
<"">

ในระหว่างขั้นตอนต่าง ๆ ดำเนินไป ท่ามกลางความมั่นใจของกรรมการกสทช.หลายคน ว่า จะไม่ล้มเหลว แต่ในอีกด้านนึงยังต้องติดตามสถานการณ์ที่ศาลปกครองกลาง ที่ยังมี 2 คดี ที่ยังไม่มีคำสั่งใดๆ คือ คดีนายอนุภาพ ถิรลาภ นักวิชาการอิสระด้านโทรคมนาคม ในประเด็นที่เกี่ยวกับการรักษาสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภค

อีกกลุ่ม คือ สมาคมสถาบันคุ้มครองสิทธิประโยชน์ผู้บริโภค นำโดยนายประหยัด เสนวิรัช นายกสมาคมฯ เกี่ยวกับ 1 ใน 3 บริษัท มีชาวต่างชาติถือหุ้น ขัดต่อกฏหมาย โดยทั้ง 2 คดี ต่างขอให้ศาลมีคำสั่ง"คุ้มครองชั่วคราว"

ส่วนวันที่ 15 ต.ค.นี้ นายสุริยะใส กตะศิลา พร้อมเครือข่ายภาคประชาชน 10 องค์กร จะยื่นฟ้อง ขอคุ้มครองชั่วคราวเช่นกัน เพราะรับไม่ได้กับ กสทช. ที่พยายามเดินหน้าจัดการประมูล ท่ามกลางการถูกตั้งข้อสงสัยจากสื่อมวลชน นักวิชาการ และสังคม ถึงความโปร่งใส โดยเฉพาะการกำหนดราคาตั้งต้นการประมูลที่ต่ำเกินกว่าผลศึกษาทางวิชาการ และต้องการให้ศาลสั่ง กสทช.พิจารณาปรับหลักเกณฑ์เพิ่มราคาตั้งต้นอีกร้อยละ 30 และหากเดินหน้าจัดประมูลจะเกิดความเสียหายมากกว่า ชะลอออกไป

นายสุริยะใส ยังเห็นว่า คดี 3 จี ครั้งนี้ จะเป็นบทพิสูจน์จริยธรรมของสังคม ว่าเป็นไปตามผลสำรวจความคิดเห็นหลายสำนักก่อนหน้านี้ ระบุไว้หรือไม่ ว่า "สังคมส่วนใหญ่ ยอมรับให้เกิดการโกง หรือ คอร์รัปชั่นได้ ถ้าตัวเองได้ประโยชน์ไปด้วย" พร้อมเรียกร้องมโนสำนึกของ กรรมการกสทช.ทุกคน ในฐานะเป็นองค์กรอิสระว่า ควรฟังเสียงภาคประชาชนเช่นกัน ซึ่งหากท้ายที่สุดยังคงเดินหน้าจัดประมูล ก็จะรวมตัวยื่นเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ตรวจสอบแน่นอน

อีกกลุ่ม ที่รอจ่อยื่นเหมือนกัน คือ กลุ่มอดีตสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ทีโอที ที่ขอศาลมีคำสั่งสั่ง กสทช. ตรวจสอบสัญญาสัมปทานการโอนทรัพย์สินของ ค่ายมือถือทั้ง 3 ราย ที่ทำสัญญาสัมปทานกับรัฐวิสาหกิจ ให้เสร็จสิ้นก่อนถึงวันประมูล

แต่ในระหว่างนี้ ก็มีความเห็นจากเลขาธิการอาเซียน ที่มองว่า ประเทศไทย มีการพัฒนาเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์ให้เต็มศักยภาพล่าช้ามาก โดยแนะนำกสทช.ว่า ควรทำหลักเกณฑ์ต่างๆ ให้เกิดความโปร่งใส เพื่อไม่ให้นำไปสู่การฟ้องร้อง ไม่ใช่ทำตัวให้เกิดความขัดแข้งในสังคมจนทำให้ประเทศไม่พัฒนา โดยเฉพาะการที่ประเทศไทยจะเข้าสู่การเปิดประชาคมอาเซียนในปี 2558 รวมถึงคนในสังคมไทยต้องมีความเข้มแข็งในการตรวจสอบ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้ประเทศไทยแข่งขันกับเวทีโลกได้อย่างเต็มศักยภาพ ไม่ใช่เพียงแค่แข่งขันกันเองในประเทศเท่านั้น

วันที่ 15 ต.ค. นับว่าเป็นวันที่จะชี้ชะตาอนาคต 3 จีของประเทศไทยว่าจะเป็นไปในทิศทางใด ท่ามกลางความก้าวหน้าของ กสทช. และการตรวจสอบจากภาคประชาชน หลังจากที่ตลอด 2 ปี ที่ผ่านมา สังคมไทย ได้ติดตามมหากาพย์ ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่การล้มประมูลปี 2553 จนถึงปัจจุบันนี้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง