บทบาท"พล.อ.อ.สุกำพล"กับการยอมรับของ"กองทัพ"

13 ต.ค. 55
15:42
73
Logo Thai PBS
บทบาท"พล.อ.อ.สุกำพล"กับการยอมรับของ"กองทัพ"

กองทัพกับรัฐบาล ยังคงถูกจับตามองถึงความสัมพันธ์ต่อกันอย่างต่อเนื่อง เพราะแม้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะมีบทบาทที่ตั้งข้อสังเกตได้ว่าหวังผลทางการเมือง แต่การทำหน้าที่ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต ก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นรัฐมนตรีที่ผลักดันการเสริมสร้างกำลังรบสอดคล้องกับความต้องการของเหล่าทัพมากที่สุด โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการกองทัพบก เห็นว่าไม่ควรมองเรื่องการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กองทัพ เป็นเรื่องประโยชน์แอบแฝง โดยเฉพาะระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ

<"">
<"">

การจัดหายุทโธปกรณ์จากยูเครน ทั้งยานเกราะบีทีอาร์ และรถถังออปล็อต ทำให้ภารกิจเยือนประเทศยูเครนของ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมผู้บัญชาการทหารอากาศ ถูกจับตามองว่า เกี่ยวข้องกับการเสริมสร้างกำลังรบ แม้จะได้รับการยืนยันจากกระทรวงกลาโหม "ว่าไม่ใช่การไปดูงานบริษัทอาวุธรายใดเพื่อเตรียมจัดซื้อ"

แต่เป็นการเดินทางไปลงนามบันทึกความตกลงด้านความร่วมมือป้องกันประเทศและเพิ่มความร่วมมือกับยูเครน ในฐานะประเทศที่ผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์รายใหญ่แห่งหนึ่งของโลกเท่านั้น

กองทัพบก จัดหายานเกราะยูเครนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเพื่อเสริมเขี้ยวเล็บปฏิบัติการเชิงรุกของกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ ปราจีนบุรี เข้าประจำการแล้วกว่า 50 คัน จาก 96 คันในล็อตแรก คาดว่า จะส่งมอบทั้งหมดได้ภายในปีนี้ (2555) และล็อตที่ 2 อีก 121 คัน จะทยอยส่งมอบภายในปี 2557 และยังลงนามจัดซื้อรถถังออปล็อต (oplot) จากยูเครน เมื่อปีที่แล้ว (2554) ทดแทนรถถังเก่าที่จะปลดประจำการ อยู่ระหว่างดำเนินการจัดสร้าง เพื่อทยอยส่งมอบในปี 2559

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ย้ำว่า การจัดหายุทโธปกรณ์ใหม่อยู่บนพื้นฐานความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพที่สุดเท่าที่งบประมาณมีอยู่ จึงไม่ควรมองว่าจะมีผลประโยชน์แอบแฝง เพราะแม้จะไม่มีสงครามขนาดใหญ่เกิดขึ้น แต่ก็จำเป็นต้องจัดหาเพื่อถ่วงดุลอำนาจ

ในยุคของ พล.อ.อ.สุกำพล จากรัฐบาลเพื่อไทย อาจไม่ได้ทำให้กองทัพสมหวังทุกครั้ง เพราะกองทัพเรือยังไม่สามารถผลักดันโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำจากเยอรมันได้ ด้วยเหตุผลที่ต้องพิจารณาอย่างรอบดาน แต่กลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา กองทัพเรือก็ได้รับอนุมัติให้จัดหาเรือฟริเกต มูลค่า 30,000 ล้านบาท เพื่อชดเชยและถ่วงดุลอำนาจกำลังรบด้านเรือดำน้ำและทดแทนเรือที่จะปลดประจำการแล้ว

และแม้บทบาทของ พล.อ.อ.สุกำพลกับกองทัพจะถูกจับตามองว่าหวังผลทางการเมือง โดยเฉพาะความใกล้ชิดสนิทสนมกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และข้อสังเกตเรื่องตรวจสอบการหลีกเหลี่ยงเกณฑ์ทหารของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ,การแต่งตั้งโยกย้ายที่เป็นเรื่องอื้อฉาวเลือกพวกพ้อง หรือการเตรียมพื้นที่ทหารทำแก้มลิง และการเสนอเป็นโกดังสต๊อกข้าว

แต่ พล.อ.อ.สุกำพล ก็ได้ชื่อว่าเป็นรัฐมนตรีผลักดันการเสริมสร้างกำลังรบสอดคล้องกับความต้องการของเหล่าทัพมากที่สุด และผู้นำเหล่าทัพ ก็สนองตอบนโยบายอย่างจริงจัง หากแต่ภายใต้กลไกของรัฐบาลและกองทัพ คำว่าผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา ต่างต้องรักษาระดับความสัมพันธ์ต่อกันไว้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง