เบื้องหลังงานสุดปราณีตของฉากโขนชุด"จองถนน"

Logo Thai PBS
เบื้องหลังงานสุดปราณีตของฉากโขนชุด"จองถนน"

กว่าจะเป็นโขนศิลปาชีพฯ ชุดจองถนน ทีมผู้สร้างต้องเตรียมงานด้วยความปราณีต และเก็บรายละเอียดทุกส่วนให้สมบูรณ์ที่สุด โดยเฉพาะตอนนี้พิเศษที่ฉากรบแสดงความยิ่งใหญ่ของทัพพระรามและทศกัณฐ์ การตรวจพลที่ไม่เคยได้ชมในชุดที่ผ่านๆ มา ซึ่งขณะนี้การทำงานเดินหน้าไปมาก จนใกล้แล้วเสร็จ

พลับพลาจำลองความสูงกว่า 10 ม. ยาว 22 ม. งดงามด้วยจิตรกรรมและงานแกะสลักไม้อย่างวิจิตร สร้างจากแรงบันดาลใจที่ได้จากพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ ในพระราชวังหลวงสมัยอยุธยา เพื่อใช้เป็นที่ประทับของพระราม ยามนำพลออกรบและเคลื่อนทัพประชิดกรุงลงกา

เกือบ 4 เดือนที่ช่างศิลป์นับ 100 คน ร่วมกันเขียนลวดลายแต่งฉากและสิ่งของประกอบการแสดงที่สร้างใหม่ยกชุด ออกแบบเลียนฝีมือช่างศิลป์สมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์  แล้วเสร็จไปกว่าร้อยละ 80 เพื่อให้โขนเฉลิมพระเกียรติ ชุดจองถนน ที่จะแสดงในเดือนพฤศจิกายนนี้ เป็นไปตามแนวทางอนุรักษ์โขน และงานช่างโบราณ

อนุชา ทีรคานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการผลิตโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เผยว่า "แบบฉากและอุปกรณ์ประกอบ เน้นความงามในการชมทั้งระยะใกล้และระยะไกล ที่เร่งกันทำงานตลอดเกือบจะ 24 ชม.ตั้งแต่กำหนดว่าเราจะแสดงชุดจองถนน"

โขนชุดจองถนน หมายถึงทำถนนข้ามมหาสมุทรไปยังกรุงลงกา ในชุดนี้จึงก็จะเห็นทัพพระรามรบเต็มรูปแบบครั้งแรกกับทศกัณฑ์ และองค์ประกอบฉากสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ ราชรถที่ครั้งนี้สร้างขึ้นมาใหม่ทั้งหมด 3 คัน แสดงแบบอย่างจากสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมอย่างงานช่างโบราณ แต่ว่าเป็นผลงาน ที่มาจากฝีมือของช่างศิลป์รุ่นใหม่

ขั้นตอนการร่างแบบบนโฟมเนื้อแข็ง และทำแม่พิมพ์หล่อขึ้นรูปเรซิ่นเป็นส่วนประกอบราชรถ อาศัยการผสมผสานเทคนิคและวัสดุสมัยใหม่เพื่อลดระยะเวลาทำงาน แต่ยังยึดรูป แบบลวดลายและสีสันเดิม ซึ่งเครื่องประกอบฉากเป็นตามธรรมเนียมการแสดงโขนหลวง รวมทั้งศึกษาจากบทพระราชนิพนธ์ในล้นเกล้ารัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2

ขณะเดียวกันช่างศิลป์ที่ชำนาญงานไม้ ยังสลักทำลายหัวนาค ลายกนก และเกริน ก่อนนำไปลงรักปิดทองเป็นเครื่องประกอบราชรถที่ทำจากไม้สักทองทั้งหมด การได้มีส่วนสร้างสรรค์ราชรถจริง นอกจากนำความภูมิใจมาสู่นักเรียนช่าง และบุคคลากรศูนย์ศิลปาชีพฯ ยังถือเป็นประสบการณ์ทำงานอันมีค่าสำหรับช่างศิลป์รุ่นใหม่

ริค่า สถิรสกุลพงศ์ ช่างจิตรกรรมประยุกต์ ศูนย์ศิลปาชีพพิเศษเกาะเกิด กล่าวว่า " การมาทำงานโดยนำความรู้ที่ได้รับการฝึกฝนจากศูนย์ศิลปชีพมาใช้ ทำให้เกิดงานตามแบบโบราณจริงๆ ที่บางอย่างก็เพิ่งมารู้จัก"

ขณะที่ สุดสาคร ชายเสม ผู้ออกแบบและควบคุมการจัดสร้างฉาก "การทำงานศิลปกรรมขนาดใหญ่ ที่ต้องมีความละเอียดปราณีตแบบโบราณ ในขณะที่ช่างหลวงไม่มากถือว่ายาก แต่จากงานนี้มีการสร้างคนใหม่ๆ อาจจะมาจากฝีมือช่างคนละสกุล แต่ก็จะทำด้วยความปราณีตและทำให้เกิดนายช่างใหม่ๆ ที่มีฝีมือขึ้นมาทดแทน"

โขนชุดจองถนน นับเป็นการแสดงโขนศิลปาชีพฯ ชุดที่ 3 ที่คณะผู้จัดฯ ทำงานต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการสร้างบุคคลกรแขนงต่างๆ เช่น คัดตัวแสดงใหม่ๆ จากทั่วประเทศ ปีนี้เปิดแสดงระหว่างวันที่ 2-30 พฤศจิกายน 2555 ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ที่ผ่านมานอกจากงานเบื้องหน้าจะมอบความประทับใจให้กับผู้ชมแล้ว เบื้องหลังยังเน้นการรักษาคุณค่าความงามเชิงช่าง และฝึกฝนฝีมือคนรุ่นใหม่ สานต่อลมหายใจงานศิลปกรรมไทยด้วย


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง