ภาพยนตร์เกาหลีเหนือเริ่มได้รับความร่วมมือจากนักทำหนังต่างชาติมากขึ้น

Logo Thai PBS
ภาพยนตร์เกาหลีเหนือเริ่มได้รับความร่วมมือจากนักทำหนังต่างชาติมากขึ้น

ความเข้มงวดของรัฐบาลเกาหลีเหนือจำกัดเนื้อหาภาพยนตร์ให้อยู่แค่ในกรอบ แต่สิ่งหนึ่งที่เริ่มเปลี่ยนแปลงหลายปีมานี้คือการร่วมมือจากนักทำหนังต่างชาติมากขึ้น แม้หลายฝ่ายจะมองว่ายังไม่หลุดพ้นจากเนื้อหาโฆษณาชวนเชื่อก็ตาม

เดินทางสู่เปียงยางเพื่อทำงานในเหมืองถ่านหิน แต่คิม สาวน้อยจากชนบทกลับใช้โอกาสนี้เดินตามความฝันนักกายกรรมผู้โด่งดัง หนังขายฝันเรื่อง Comrade Kim Goes Flying ไม่ได้มีความน่าสนใจที่เนื้อหา แต่ในมุมของผู้สร้าง นี่คือโอกาสครั้งแรกๆ ที่รัฐบาลเกาหลีเหนืออนุญาตให้ 2 ผู้กำกับจากอังกฤษ และเบลเยี่ยมมาร่วมงานกับชาวโสมแดง และยอมให้ถ่ายทำในบ้านเกิดได้

Meet in Pyongyang เป็นหนังอีกเรื่องที่เกาหลีเหนือมาร่วมงานกับสตูดิโอจีนครั้งแรกในรอบ 60 ปี เล่าเรื่องนักเต้นสาวจาก 2 ชาติได้มาพบและเรียนรู้กันและกัน โดยนอกจากชาวเกาหลีเหนือได้ชมหนังทั้ง 2 เรื่องในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเปียงยาง ยังได้นำไปฉายในเทศกาลหนังอีกหลายแห่งทั้งเมืองโตรอนโตของแคนาดา หรือเมืองปูซานของประเทศคู่ขัดแย้งอย่างเกาหลีใต้

ชญานิน เตียงพิทยากร นักวิจารณ์ภาพยนตร์ กล่าวว่า มันค่อนข้างแสดงให้เห็นว่าในวัฒนธรรมของเกาหลีเหนือเริ่มเปิดรับภายนอกมากขึ้น เปิดรับตะวันตกมากขึ้น ซึ่งแต่เดิมเขาก็เปิดรับประมาณหนึ่งเพียงแต่ยังไม่เป็นที่รับรู้

ความหลงใหลในภาพยนตร์ของผู้นำคิม จอง อิล ผู้ล่วงลับ ทั้งการเขียนหนังสือ On the Art of the Cinema และครอบครองวิดีโอ และดีวีดีภาพยนตร์มากถึง 20,000 เรื่อง ยิ่งทำให้เขามองว่าสื่อภาพยนตร์เป็นเครื่องมือสร้างชาติตามแนวทางของพรคคคอมมิวนิสต์ ทัศนคติเดียวกันสืบทอดมายังคิม จอง อึน ผู้นำคนปัจจุบัน โดยโช โฆษกของ Studio Korean Film ยอมรับว่าจุดประสงค์หลักของการผลิตภาพยนตร์ในเกาหลีเหนือ คือการถ่ายทอดอุดมการณ์การเมือง แนวทางโฆษณาชวนเชื่อที่ยังแข็งแกร่ง ทำให้นักทำหนังหันไปสร้างภาพยนตร์ในรูปแบบสารคดีที่ถ่ายทอดความจริง แทนการเขียนบทเอาใจทางการ เช่นเรื่อง North Korean's Cinema Of Dream ของ 2 ผู้กำกับชาวสิงคโปร์ที่ใช้เวลา 2 ปีเข้าไปเก็บภาพ และสัมภาษณ์นักศึกษาสาขาภาพยนตร์ของมหาวิทยาลัยเปียงยาง

คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง นักวิจารณ์ภาพยนตร์ กล่าวว่า มันน่าสนใจตรงที่ว่าเป็นสารคดีก็ไม่ต้องมีการเซ็ทเรื่องอะไร มันผ่านการตรวจตราอันเข้มข้นของเกาหลีเหนือได้เพราะมันไม่ได้สร้างเรื่อง มันก็สัมภาษณ์นักแสดง นักเรียนฟิล์มที่อยู่ในเกาหลีเหนือ ซึ่งเขาก็จะบอกว่าของเขาดีที่สุด แต่เราที่เป็นคนดูก็จะคิดเอาเองว่าสิ่งที่เขาพูดมันน่าเชื่อถือขนาดไหน หรือว่ามันสะท้อนอะไรบ้าง

ก้อง ฤทธิ์ดี นักวิจารณ์ภาพยนตร์ กล่าวว่า มันเหมือนกับประเทศสังคมนิยมยุโรปสมัยก่อน เขาไม่มีการทำหนังเพื่อการค้า หนังทุกอย่างทำเพื่อส่งเสริม ทำเพื่อเหตุผลทางการเมืองเท่านั้น เพราะฉะนั้นเกาหลีเหนือยังไม่น่าจะต่าง ต่อไปมันจะเป็นการค้าได้มันต้องไปประกอบกับอย่างอื่น เช่น ระบบตลาด ระบบทุน ซึ่งมันอาจจะเปลี่ยนไป ก็ยังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ และไม่น่าจะเป็นไปได้

สื่อภาพยนตร์ได้รับความนิยมในหมู่ชาวเกาหลีเหนืออย่างมาก โดยนอกจากประชาชนจะเดินทางไปร่วมชมหนังในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเปียงยางอย่างคึกคัก ในชีวิตประจำวันยังมีช่อง MansudaeTV ฉายหนังจีน และยุโรปตะวันออกให้ดูช่วงสุดสัปดาห์ และยอมตีตั๋วราคา 500 วอนเพื่อดูหนังใหม่ แม้เริ่มมีสัญญาณในการเปิดกว้างมากขึ้น แต่การเปลี่ยนแปลงไปสู่ภาพยนตร์เพื่อความบันเทิง ยังคงเป็นเรื่องยากสำหรับประเทศเกาหลีเหนือที่มีระบบการควบคุม และตรวจสอบเข้มงวดมาอย่างยาวนาน
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง