ประมูล 3 จี ไร้การแข่งขันกับผลประโยชน์"ประชาชน-ผู้ประกอบการ"

15 ต.ค. 55
14:34
47
Logo Thai PBS
ประมูล 3 จี ไร้การแข่งขันกับผลประโยชน์"ประชาชน-ผู้ประกอบการ"

แม้การจัดประมูล 3 จี วันที่ 16 ต.ค.นี้ จะลุล่วงไปได้ และคนไทยอาจได้ใช้บริการ 3 จี ภายในกลางปีหน้า (2556) แต่นักวิชาการด้านโทรคมนาคมบางส่วนยังตั้งข้อสังเกตว่า คุณภาพและราคา อาจไม่ต่างจาก 3 จี ที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้

<"">
<"">

เพราะการประมูลใบอนุญาตทั้ง 9 ใบ จากเอกชนทั้ง 3 ราย ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้ (16 ต.ค.) ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการแข่งขันที่สมบูรณ์

ในการประมูลใบอนุญาตย่านความถี่โทรคมนาคม 2.1 กิกะเฮิร์ตซ์ หรือ 3 จี ผู้เข้าร่วมประมูล จะแข่งขันเสนอราคา โดยแต่ละครั้งที่กดเพิ่มเงิน ราคาใบอนุญาตจะแพงขึ้นครั้งละ 225 ล้านบาท จากราคาเริ่มต้น 4,500 ล้านบาท

นี่คือ ความคาดหวังของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ที่เชื่อว่า แม้จำนวนใบอนุญาตถือครองคลื่นสูงสุด หารลงตัวกับจำนวนบริษัทผ่านเกณฑ์คุณสมบัติ 3 ราย แต่ทุกราย ยังต้องแข่งขันกันเสนอราคาประมูลสูงสุด เพื่อให้ได้สิทธิเลือกช่วงคลื่นดีที่สุด เพื่อลดสัญญาณรบกวน ซึ่งกระทบต่อจำนวนผู้ใช้บริการโดยตรง

แต่นายพิพัฒน์ พรหมมี อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมโทรคมนาคม มหาวิยาลัยเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่มองว่า เป็นเพียงโฆษณาชวนเชื่อ เพราะ วิศวกรบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์ สามารถปรับจูนหลีกเลี่ยงคลื่นรบกวนได้ จึงไม่มีเหตุผลใดที่ผู้ให้บริการจะเสนอราคาประมูลใบอนุญาตในราคาที่สูง

ขณะที่นิตยา สุนทรสิริพงศ์อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสารสนเทศระหว่างประเทศ ตั้งข้อสังเกตอีกว่า บรรยากาศการลงทุน และโครงสร้างอุตสาหกรรมภายในประเทศ ไม่เอื้อต่อการแข่งขัน ทั้งในแง่ราคาและบริการทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับประโยชน์จากการประมูลครั้งนี้มากนัก

นักวิชาการระบุว่าแม้การมีเทคโนโลยี 3 จีในครั้ง ไม่ได้รับประกันว่า เด็กในพื้นที่ห่างไกล เกษตรกรจะได้ประโยชน์จากการรับ-ส่งข้อมูล,ภาพ,เสียงด้วยความเร็วสูง เพราะกสทช.ผ่อนปรนหลักเกณฑ์การวางโครงข่ายประกอบกิจการให้บริษัทผู้ให้บริการอยู่มาก และอาจใช้เวลาไม่น้อยกว่า 4-5 ปี กว่าจะใกล้เคียงกับโฆษณาทีวี

แม้กสทช.จะฝ่าด่านแรก จากสารพัดคำฟ้องของนักวิชาการและภาคประชาชน แต่ก็เรียกได้ว่า ผ่านมาได้แบบทุลักทุเล เพราะยังเกิดคำถามเกี่ยวกับ การทำงานและบทบาทของ กสทช. กับผลประโยชน์ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมมูลค่านับแสนล้านบาทว่า เอื้อประโยชน์ให้กับประชาชนอย่างแท้จริง หรือ ปูทางผลประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง