ประมูล 3 จีก้าวสำคัญอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทย

เศรษฐกิจ
16 ต.ค. 55
07:38
74
Logo Thai PBS
ประมูล 3 จีก้าวสำคัญอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทย

หลังจากการประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม บนย่านความถี่ 2.1 กิกะเฮิร์ต หรือ 3จี ถูกล้มไปเมื่อเดือนกันยายนปี 53 วันนี้ (16 ต.ค.) การจัดการประมูลอีกครั้งจึงนับเป็นก้าวสำคัญของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทย

ย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีก่อน การประมูลใบอนุญาต 3 จี บนคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิร์ตซ์ ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศ ณ รีสอร์ทหรูแห่งหนึ่ง ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทร คมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล และมี พ.อ.นที ศุกลรัตน์ กรรมการ กทช.สมัยนั้น เป็นผู้รับหน้าที่จัดประมูล ทั้งหมด ซึ่งในวันที่ 20 กันยายน 2553 ถูกกำหนดให้เป็นวันเปิดประมูล มี 3 ค่ายมือถือรายใหญ่ที่ผ่านเกณฑ์การประมูลเข้าร่วม นั่นก็คือบริษัทลูกของเอไอเอส ดีแทค และทรู กทช.ทุ่มกำลังคน และงบประมาณไปกว่า 80 ล้านบาทในการเปิดประมูลครั้งนั้น

แต่ก่อนการประมูลเพียง 4 วัน ศาลปกครอง พิพากษาให้ระงับการประมูล 3จี ตามคำร้องของ บริษัท กสท โทรคมนาคม และบริษัท ทีโอที ที่ระบุว่า กทช. ไม่มีหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ และประกาศ กทช.เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรศัทพ์เคลื่อนที่ 2.1 กิกะเฮิร์ตซ์ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งทำให้การจัดประมูลต้องยกเลิก

แม้ว่า กทช. ได้ยื่นเรื่องอุทธรณ์ แต่ศาลได้ยืนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ระงับประมูล 3จี โดยให้เหตุผลว่า การที่ไม่มี 3จี ไม่ได้ถือว่าเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ ถึงแม้ว่าจะเป็นการดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณประโยชน์ แต่ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของความชอบด้วยกฎหมาย

การล้มประมูลครั้งนั้น ทำให้ปัจจุบันไทยเกือบจะเป็นประเทศสุดท้ายในภูมิภาคที่ยังไม่มีเทคโนโลยีดังกล่าว ขณะที่บางประเทศในภูมิภาคมีการเปิดใช้กันมากว่า 6-7 ปีแล้ว เช่น มาเลเซีย เปิดใช้ 3 จีมาตั้งแต่ปี 2548 อินโดนีเซีย ใช้ในปี 2549 ฟิลิปปินส์ ปี2550 ลาว และกัมพูชาใช้ในปี 2551 ขณะที่สิงคโปร์ใกล้จะได้ใช้เทคโนโลยี 4 จีในเดือนพฤศจิกายนนี้แล้ว

หากการประมูลผ่านพ้นไปด้วยดี คนไทยจะมีโอกาสใช้โอกาสใช้เทคโนโลยี 3จี บนคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิร์ตอย่างสมบูรณ์แบบ ภายในกลางปีหน้า แต่ก็ยังต้องจับตาว่าจะมีการเคลื่อนไหวสกัดการประมูลอีกหรือไม่ ซึ่งยังคงมีหลายกลุ่มที่เห็นว่าการประมูลครั้งนี้ ประเทศยังไม่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการจัดสรรคลื่นความถี่ของ กสทช.


ข่าวที่เกี่ยวข้อง