ภาคีต้านทุจริตฯเรียกร้องรัฐบาลตรวจสอบกรณีไซ่ฟ่อนเงิน 1.6 หมื่นล้านบาท

การเมือง
16 ต.ค. 55
14:12
44
Logo Thai PBS
ภาคีต้านทุจริตฯเรียกร้องรัฐบาลตรวจสอบกรณีไซ่ฟ่อนเงิน 1.6 หมื่นล้านบาท

ภาคีเครือข่ายต้านการทุจริตคอ์รัปชั่นแห่งชาติ เรียกร้องรัฐบาลตั้งคณะกรรมการตรวจสอบกรณีไซฟ่อนเงิน 16,000 ล้านบาท ที่ฮ่องกง โดยยืนยันไม่ได้ทำเพื่อล้มรัฐบาล ขณะที่วันนี้รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ยืนยันต่อคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน วุฒิสภา ถึงขอบเขตอำนาจของ ป.ป.ท.ในการสอบกรณีไซฟ่อนเงินว่า ไม่สามารถดำเนินการได้ แต่หากรัฐบาลแต่งตั้งก็พร้อมดำเนินการ

คณะอนุกรรมาธิการการ ด้านการเก็บรายได้ของแผ่นดิน ในคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน วุฒิสภา เชิญ พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะอดีตเลขาธิการ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท.

เข้าชี้แจงประเด็นที่อ้างถึงนักการเมืองโยกย้ายถ่ายเทเงิน หรือ ไซฟ่อนเงิน 16,000 ล้านบาทที่ฮ่องกง ซึ่งเชื่อว่าส่วนหนึ่งได้มาจากการทุจริตงบประมาณช่วยเหลือน้ำท่วมปี 2554 ว่าเป็นเพียงการรับทราบจากข่าวของสื่อมวลชน และไม่เกี่ยวข้องกับขอบเขตอำนาจของ ป.ป.ท.ที่กำหนดให้ตรวจสอบข้าราชการระดับ 8 ลงไป

ซึ่งได้ทำหนังสือชี้แจงถึงปลัดกระทรวงยุติธรรมเกี่ยวกับกรณีนี้แล้ว แต่พร้อมตรวจสอบเรื่องนี้หากได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากรัฐบาล

ขณะที่วันนี้ (16 ต.ค.)นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ เลขาธิการภาคีเครือข่ายต้านการทุจริตคอรัปชั่นแห่งชาติ หรือ ภชต. ออกมาตอบโต้ฝ่ายรัฐบาล ที่ออกมาปฎิเสธว่ากรณีไซฟ่อนเงินเป็น 1ในแผนล้มรัฐบาลว่า รัฐบาลควรตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนออกมาปฎิเสธ โดยเฉพาะ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีซึ่งเลขาธิการ ภตช.อ้างว่าเคยให้ข้อมูลกับคณะกรรมมาธิการวุฒิสภาชุดหนึ่ง เกี่ยวกับกรณีไซฟ่อนเงินที่เยาวราชว่ามีอยู่จริง จึงต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการที่มีเครือข่ายภาคประชาชนมากกว่ากึ่งหนึ่งขึ้นมาตรวจสอบกรณีนี้

เลขาธิการ ภชต. ยืนยันว่า ข้อมูลที่ได้มีความน่าเชื่อถือเพราะเป็นข้อมูลที่ได้จากการประชุมระหว่าง ป.ป.ช.ฮ่องกง และภาคีเครือข่ายต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น หรือ ไอแคค ของฮ่องกง ซึ่งมีสมาชิกเป็นภาคประชาชนและเอกชน ที่ประกอบไปด้วยสมาคมธนาคาร และนักธุรกิจที่เคยกระทำผิดในลักษณะเดียวกันมาก่อน ขณะเดียวกันเชื่อว่าข้อมูลที่ ภชต.มีอยู่เพียงพอที่จะเชื่อมโยงกับผู้กระทำผิดได้

นายมงคลกิตติ์ ยังระบุว่า หากรัฐบาลไม่ยอมตรวจสอบเรื่องนี้ ภาคีเครือข่ายฯก็ยังจะตั้งคณะกรรมการขึ้นตรวจสอบเอง โดยระหว่างนี้ ยังคงประสานขอข้อมูลเพิ่มจากเครือข่ายในฮ่องกง แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ โดยเฉพาะนักการเมือง 30 คน และกลุ่มธุรกิจ ที่มีความเกี่ยวข้องกับการไซฟ่อนเงิน

ส่วนสาเหตุที่ ภชต.ไม่ส่งข้อมูลให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. รวมถึงหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบการทุจริต เพราะเกรงว่าอาจถูกฝ่ายการเมืองแทรกแซง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง