“Digital TV” จุดเปลี่ยนทีวีไทย...จริงหรือ?

18 ต.ค. 55
16:27
104
Logo Thai PBS
“Digital TV” จุดเปลี่ยนทีวีไทย...จริงหรือ?

ดิจิทัลทีวี 48 ช่อง ที่จะเกิดภายในปี 2013 จะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนและแข่งขันในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องจากผู้ประกอบการรายใหญ่เป็นหลัก

แต่อาจต้องใช้เวลาในการสร้างความนิยมให้แก่ผู้บริโภค เนื่องจากระยะเวลาในการเปลี่ยนผ่านที่ใช้เวลานาน ประกอบกับการรับชมทางเลือกอื่นที่กำลังเติบโตได้ดี โดยหน่วยงานภาครัฐจะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านจากอนาล็อกไปสู่ดิจิตอลได้ตามเป้าหมาย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ประกอบการในธุรกิจมีเดียและผู้บริโภคไทย

ดิจิทัลทีวีเป็นปัจจัยเอื้อต่อทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค แต่การเปลี่ยนผ่านจากระบบอนาล็อกในปัจจุบันนั้นอาจต้องใช้ระยะเวลานานถึง 8- 10 ปี กว่าจะเสร็จสมบูรณ์ จึงอาจดูเป็นเรื่องไกลตัวเกินไปสำหรับผู้บริโภคที่มีทางเลือกอื่น ทำให้รายจ่ายของผู้ประกอบการมีแนวโน้มสูงกว่ารายได้ในระยะแรก

ดิจิทัลทีวี สำหรับการออกอากาศโทรทัศน์ภาคพื้นดิน (Terrestrial TV) ถูกคิดค้นมาแทนที่ระบบอนาล็อกเพื่อเพิ่มจำนวนช่องบริการและยกระดับคุณภาพสัญญาณให้คมชัดและไม่ถูกรบกวนได้ง่าย และยังสามารถพัฒนาให้รับชมในระบบความคมชัดสูง (High Definition) ระบบสามมิติ (3D) และการรับชมขณะเคลื่อนที่ (TV-on-Mobile) เพื่อตอบสนองกับวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ ในส่วนของผู้ประกอบการจะสามารถสร้างรายได้จากการให้บริการที่หลากหลายเพิ่มขึ้น เช่น บริการเสริมลักษณะโต้ตอบ (Interactive) เช่น VDO-on-Demand รวมถึงรายได้จากโฆษณาที่จะเพิ่มขึ้นจากการวัดเรตติ้งที่แม่นยำขึ้นผ่านระบบดิจิทัล

ในด้านรายจ่ายผู้ประกอบการยังสามารถประหยัดพลังงานในการส่งสัญญาณได้ถึง 90% เมื่อเทียบกับการส่งในระบบอนาล็อกเดิมอีกด้วย แต่ผู้ประกอบการอาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านต้นทุนในการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์และวางโครงข่ายล่วงหน้า ในขณะที่ผู้บริโภคจะยังมีการใช้งานน้อยในช่วง 3 ปีแรก โดย กสทช. ได้สร้างแผนแม่บทในการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีนี้เป็นเวลาอย่างน้อย 8-10 ปี ซึ่งสอดคล้องกับระยะเวลาเปลี่ยนผ่านจากระบบอนาล็อกเป็นดิจิทัลของประเทศพัฒนาแล้วเช่น ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ เช่นกัน

ดิจิทัลทีวีจะทำให้เกิดการแตกตัวทางธุรกิจมีเดียให้มีความหลากหลายมากขึ้น แต่ด้วยต้นทุนที่ค่อนข้างสูง ทำให้อาจมีเพียงผู้ประกอบการรายใหญ่เป็นหลักที่สามารถเข้าร่วมลงทุน การออกอากาศในระบบอนาล็อกเดิมจะประกอบไปด้วยผู้เล่นสองส่วนหลักคือ ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ และช่องสถานีที่ทำการรวบรวมรายการและแพร่สัญญาณภาพ แต่ในระบบดิจิทัลจะมีการแตกตัวทางธุรกิจเพิ่มขึ้น ช่องสถานีโทรทัศน์อาจไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของโครงข่ายและปัจจัยพื้นฐานเองทั้งหมด นอกจากนั้น อาจเกิดธุรกิจใหม่ๆ เช่น ผู้รวบรวมสัญญาณการแพร่ภาพ และผู้ผลิตบริการประยุกต์ต่างๆ ที่ใช้สำหรับการออกอากาศ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนระบบออกอากาศมาเป็นระบบดิจิตอลจะต้องลงทุนในอุปกรณ์เพิ่มเติม และยังต้องจ่ายค่าเช่าโครงข่ายหากไม่มีเป็นของตัวเอง และที่สำคัญ ยังต้องชำระค่าประมูลใบอนุญาตอีกด้วย ทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่อาจต้องใช้เงินลงทุนหลักพันล้านบาทสำหรับหนึ่งช่องสถานี ซึ่งต่างจากการลงทุนทำช่องทีวีดาวเทียมที่ใช้เงินลงทุนเพียงหลักร้อยล้านบาท

ดังนั้น การลงทุนในดิจิทัลทีวีน่าจะเอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการรายใหญ่จากฝั่งบรอดแคสติ้งรายเดิม เช่น กลุ่มฟรีทีวีเดิม (BEC, BBTV และ MCOT เป็นต้น) ที่ต้องการรักษาฐานตลาด และกลุ่มผู้ประกอบการทีวีดาวเทียมและเคเบิ้ลทีวีขนาดใหญ่ (True, GMM และ RS เป็นต้น) ที่ต้องการขยายฐานลูกค้า

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มโทรคมนาคมขนาดใหญ่ที่สนใจเข้ามาลงทุนเช่นกัน โดยบริษัทเหล่านี้มีความได้เปรียบด้านเงินทุนและการมีโครงข่ายเป็นของตนเอง ส่วนผู้ประกอบการรายเล็กที่มีเงินลงทุนไม่สูงนัก คงจำต้องเน้นการลงทุนในช่องทีวีดาวเทียมหรือผลิตรายการให้กับเคเบิ้ลทีวีในรูปแบบเดิมไปก่อน

กสทช.และหน่วยงานของรัฐมีบทบาทสำคัญในการจัดการกับทั้งปัจจัยผลักดันและปัจจัยฉุดรั้ง เพื่อให้กระบวนการเกิดดิจิทัลทีวีดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีเป็นปัจจัยกดดันสำคัญที่ทำให้ไทยต้องเปลี่ยนผ่านจากระบบอนาล็อกเป็นดิจิทัลทีวี เพราะภายในปี 2015 สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) เตือนถึงการยกเลิกการผลิตอุปกรณ์ในระบบอนาล็อกเดิมแล้ว หากไทยไม่เริ่มกระบวนการเปลี่ยนผ่านภายในเวลา 3 ปีข้างหน้าก็จะมีความเสี่ยงในด้านอุปกรณ์การใช้งาน

โดยปัจจัยฉุดรั้งสำคัญคือ ความล่าช้าของการจัดประมูลใบอนุญาต ที่จะมีผลกระทบทางอ้อมทำให้บริการเคเบิ้ลทีวีและทีวีดาวเทียมเติบโตได้ต่อเนื่อง และกลายเป็นคู่แข่งสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคขาดแรงจูงใจในการเปลี่ยนมาใช้ดิจิทัลทีวี

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้บริโภคยังต้องลงทุนซื้อกล่องรับสัญญาณ (Set-top box) หรือซื้อโทรทัศน์รุ่นใหม่ที่รองรับดิจิทัลทีวี ซึ่งปัจจัยฉุดรั้งเหล่านี้พบในกระบวนการเปลี่ยนผ่านในหลายประเทศ โดยหน่วยงานที่กำกับดูแลคล้ายคลึงกับ กสทช. ได้มีบทบาทกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนผ่านเร็วขึ้น เช่น สหรัฐฯ ใช้วิธีกำหนดระยะเวลาและข้อห้ามในการขายอุปกรณ์ เพื่อบีบให้ผู้บริโภคที่ถึงรอบการเปลี่ยนอุปกรณ์ต้องซื้อในระบบดิจิทัล

ส่วนญี่ปุ่นใช้วิธีออกคูปองชดเชยผู้บริโภคในการเปลี่ยนอุปกรณ์ และอังกฤษเลือกถ่ายทอดรายการสำคัญ เช่น ฟุตบอลโลก และโอลิมปิกเกมส์ ผ่านระบบดิจิตอลเท่านั้น แต่ทั้งนี้ การเปลี่ยนผ่านในแต่ละประเทศจะใช้เวลาเร็วช้าก็ขึ้นอยู่กับสภาวการณ์และพฤติกรรมผู้บริโภค สำหรับไทยนั้น อาจใช้เวลาเร็วกว่า 8-10 ปีก็เป็นได้ ถ้าผู้ประกอบการสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์การรับชมที่ทันสมัย และมีช่องรายการต่างๆ ที่น่าสนใจเพียงพอที่จะดึงดูดผู้บริโภค เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคไทยจะปรับตัวรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้รวดเร็ว และยังนิยมรับชมโทรทัศน์เพื่อเข้าถึงสาระและความบันเทิงมากกว่าช่องทางอื่น

หากดิจิทัลทีวีเกิดช้า จะส่งผลกระทบอย่างไร?

1. ผู้ให้บริการ-ผู้รับบริการมีความเสี่ยงที่จะไม่มีอุปกรณ์คุณภาพดีใช้งานภายหลังปี 2015 เนื่องจากทั่วโลกจะเริ่มยกเลิกการผลิตในระบบอนาล็อก ส่งผลให้อุปกรณ์มือสองจากทั่วโลกจะหลั่งไหลเข้ามาขายในไทยแต่อุปกรณ์มือหนึ่งจะหาได้ยากขึ้น

2. ทีวีดาวเทียมและเคเบิ้ลทีวีจะเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีการเข้าถึงผู้บริโภคได้ถึง 90% ของครัวเรือนไทยภายในปี 2015 จากปัจจุบันที่มีอัตราการเข้าถึงผู้บริโภคอยู่ที่ 50-60% ทำให้ดิจิทัลทีวีที่เกิดขึ้นในภายหลังอาจไม่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค และลดความน่าสนใจลงทุน

3. รายได้จากโฆษณากว่า 6 หมื่นล้านบาทจะยังคงกระจุกตัวอยู่กับฟรีทีวีเดิมทั้ง 6 ช่อง เนื่องจากไม่มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้าแย่งส่วนแบ่งรายได้ค่าโฆษณา

เมื่อดิจิตอลทีวีเกิดขึ้น จะส่งผลกระทบเชิงบวกอย่างไร ?

1. ภายใน 3-5 ปีแรกนับจากนี้ หากแผนแม่บทของ กสทช. เป็นไปตามเป้าหมาย จะมีครัวเรือนที่รับชมดิจิทัลทีวีตามเมืองใหญ่สูงถึง 80% ทำให้มียอดขายกล่องรับสัญญาณ (Set-top box) หรือการซื้อโทรทัศน์ใหม่ ที่รองรับระบบดิจิตอลเพิ่มขึ้นรวมกันอย่างน้อย 7.2 ล้านเครื่อง

2. เกิดการแตกตัวทางธุรกิจแบบใหม่ อาทิ ผู้รวบรวมรายการ ผู้รวบรวมสัญญาณ และ ผู้ให้บริการเสริมต่างๆ เป็นต้น ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการกระจายตัวของรายได้ไปยังผู้ให้บริการในส่วนต่างๆ และเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น

3. การวัดเรตติ้งโฆษณาจะมีความแม่นยำและเชื่อถือได้มากขึ้น ประกอบกับช่องรายการที่หลากหลายแต่แยกประเภทชัดเจนจะทำให้เจ้าของผลิตภัณฑ์สามารถทุ่มงบประมาณโฆษณาได้ตรงตามกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น

ใครเสียประโยชน์ เมื่อดิจิทัลทีวีเกิดขึ้น ?

ผู้ประกอบการสถานีโทรทัศน์รายเดิมจะได้รับผลกระทบจากจำนวนคู่แข่งที่เพิ่มขึ้น และการแตกตัวของห่วงโซ่อุปทานที่จะเกิดการแบ่งสรรรายได้ออกไป หากไม่สามารถลงทุนดำเนินกิจการได้เองตลอดทั้งห่วงโซ่ ในส่วนผู้ผลิตรายการเพื่อขายสถานีโทรทัศน์นั้น ก็จะได้รับผลกระทบทางอ้อมจากรายได้ของสถานีที่อาจลดลงจากการกระจายค่าโฆษณาไปยังจำนวนช่องที่เพิ่มขึ้น และต้องแข่งขันกันด้วยคุณภาพรายการที่รุนแรงขึ้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง