ย้อนรอยการคลี่คลายคดีฆาตกรรม "เชอร์รี่แอน" ตอนที่ 2

21 ต.ค. 55
15:15
1,646
Logo Thai PBS
ย้อนรอยการคลี่คลายคดีฆาตกรรม "เชอร์รี่แอน" ตอนที่ 2

ระหว่างการสืบสวนคดีการฆาตกรรม น.ส.เชอร์รี่แอน ดันแคน ซึ่งมีการจับผู้บริสุทธิ์ 4 คน ชุดสืบสวนจากกองปราบปรามในขณะนั้นได้มีการสืบสวนพร้อมกับตำรวจพื้นที่ และพบความผิดปกติของคดีจนนำไปสู่การพบพยานหลักฐานของกลาง และนำไปสู่การจับผู้ต้องหาตัวจริงได้

จุดเริ่มต้นคลี่คลายคดีฆาตกรรม น.ส.เชอรี่แอน ดันแคน เริ่มจากหนังสือคำร้องที่ นายวินัย ชัยพานิช 1 ใน 5 ผู้ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในคดี ได้ยื่นคำร้องนี้ถึงอธิบดีกรมตำรวจในปี 2530 หลังเขาเป็นคนเดียวที่ถูกอัยการสั่งไม่ฟ้องและได้รับการปล่อยตัว ขณะที่คนสนิทอีก 4 คน คือ นายกระแสร์ พลอยกลุ่ม นายรุ่งเฉลิม กนลชวาลชัย นายพิทักษ์ ค้าขาย นายธวัชชัย กิจประยูร ถูกควบคุมตัวและศาลชั้นต้นมีคำสั่งประหารชีวิตทั้งหมด

ซึ่งต่อมากองปราบปรามเป็นผู้รับทำคดี และมี พล.ต.ต.อดิศร จินนะพัฒน์ ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้กำกับการ 3 กองปราบปรามเป็นผู้สืบสวนในเรื่องนี้ และเริ่มต้นพบความผิดปกติของคดีดังกล่าว

พยานคนสำคัญของคดีนี้ คือ นางบัวลอย แสนทรัพย์ ซึ่งเป็นภรรยาของนายสมัคร ธูปบูชาการ เข้าพบกับชุดสืบสวนกองปราบปราม พร้อมนำนาฬิกามามอบให้เป็นของกลาง โดยระบุว่า นาฬิกาเรือนดังกล่าวเป็นของ น.ส.เชอรี่แอน ซึ่งนายสมัคร ผู้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์นี้ได้นำนาฬิกาเรือนดังกล่าวมามอบให้กับตัวเองเพื่อเป็นของกำนัล จึงทำให้ชุดสืบสวนของกองปราบปรามสามารถเชื่อมโยงเหตุการณ์และระบุได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 5 คนที่ถูกจับก่อนหน้านี้ ไม่ใช่ผู้ก่อเหตุตัวจริง

<"">
<"">

 

ชุดสืบสวนแกะรอยจนพบความเชื่อมโยงไปถึง 4 ผู้ต้องหาตัวจริง คือ นายสมใจ บุญฤทธิ์ ผู้ติดต่อวางแผนฆ่า นายสมพงษ์ บุญฤทธิ์ เป็นผู้ใช้เข็มขัดรัดคอ น.ส.เชอร์รี่ แอน และนำศพแบกไปทิ้งที่เกิดเหตุ รวมถึงนายพีระ ว่องไววุฒิ คนขับแท็กซี่

ภายใน 30 วัน ชุดสืบสวนกองปราบปรามสามารถสรุปสำนวน และมีหลักฐานเชื่อได้ว่าผู้บงการคดีนี้ คือ น.ส.สุวิบูลย์ พัฒน์พงษ์พานิช เพื่อนสาวคนสนิทของนายวินัย ที่เกิดหึงหวง น.ส.เชอร์รี่แอน และตำรวจได้รวบรวมสำนวน และพยานหลักฐานเข้าไปปรึกษาพนักงานอัยการในขณะนั้น เพื่อให้ถอนฟ้อง ผู้ต้องหาตัวปลอม หรือแพะ แต่ไม่เป็นผล

เมื่อไม่สามารถถอนฟ้องได้ ชุดสืบสวนกองปราบปรามทำได้แค่เพียง ต้องรอให้ศาลฎีกามีคำสั่งพิพากษาจนถึงที่สุดจากนั้นถึงสามารถยื่นฟ้องร้องเป็นคดีใหม่ได้ โดยใช้เวลาถึง 8 ปี แต่ในที่สุดศาลฎีกา ก็มีคำสั่งยกฟ้องผู้ถูกกล่าวหาชุดแรกทั้ง 4 คน ส่วนกลุ่มผู้ต้องหาตัวจริงก็สามารถจับได้โดยทั้งหมดรับสารภาพแม้ว่า และถูกสั่งจำคุกตลอดชีวิต ส่วน น.ส.สุวิบูลย์ ศาลยกฟ้อง เพราะเห็นว่าพยานหลักฐานไม่เพียงพอที่จะให้เชื่อได้ว่าเป็นผู้บงการ

พล.ต.ต.อดิศร ยอมรับว่า คดีนี้เป็นคดีที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การทำงานของตำรวจที่ล้มเหลว พร้อมย้ำให้ตำรวจในยุคปัจจุบัน ต้องทำงานให้รัดกุม และควรตรวจสอบให้แน่ชัด เพื่อไม่ให้เกิดคดีจับผิดตัว ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้บริสุทธิ์


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง