ชีวิตสันโดษของ คิมคีดุ๊ก หลังคว้าสิงโตทองคำ

Logo Thai PBS
ชีวิตสันโดษของ คิมคีดุ๊ก หลังคว้าสิงโตทองคำ

การคว้าสิงโตทองคำในเทศกาลภาพยนตร์เวนิส ทำให้ คิมคีดุ๊ก เปลี่ยนจากนักสร้างหนังนอกคอก ของวงการบันเทิงเกาหลีใต้ กลายเป็นผู้กำกับเนื้อหอมแดนโสม แต่ความสำเร็จชั่วข้ามคืนก็ไม่อาจเปลี่ยนนักสร้างหนังผู้ถูกคนในวงการขนานนามว่าผู้กำกับภาพยนตร์นอกคอก ไปจากแนวทางสร้างหนังอันเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองได้

เพราะความผิดพลาดในอดีตทำให้วันนี้ คิมคีดุ๊ก ผู้กำกับภาพยนตร์เกาหลีชื่อดังเจ้าของรางวัลสิงโตทองคำปีล่าสุด ตัดสินใจหนีสังคมเมืองมาอาศัยในกระท่อม ห่างกรุงโซล เกือบ 100 กิโลเมตร เพราะเกือบทำให้นักแสดงหญิงเสียชีวิตในฉากผูกคอตายของภาพยนตร์เรื่อง Dream เมื่อ 4 ปีที่แล้ว จนถูกทีมงานคว่ำบาตรยุติการทำงานร่วมกับเขา กลายเป็นบาดแผลในจิตใจจนเลือกมีชีวิตสันโดษเช่นทุกวันนี้

แม้ถูกขนานนามว่าเป็นคนชายขอบวงการบันเทิงเกาหลี เพราะเรียนจบเพียงชั้นมัธยม และสร้างตัวจากการเป็นคนงานในโรงงาน แต่สามารถเก็บเงินไปเรียนศิลปะในกรุงปารีส จนมีหนังเรื่องในปี 1996 ที่สร้างความแตกตื่นให้สังคมเกาหลีด้วยฉากรุนแรง และการข่มขืน จนกลุ่มสิทธิสตรีประณามว่าเขาเป็นคนเหยียดเพศ และเป็นโรคจิต ซึ่งเขายอมรับว่าส่วนหนึ่งมาจากความพยายามกลบปมด้อยในใจของตัวเอง

หลังหยุดทำหนังไปถึง 2 ปี คิมคีดุ๊ก กลับมาสร้างผลงานอีกครั้งทั้ง Amen และสารคดี Arirang และประสบความสำเร็จสูงสุดในกับ Pieta ภาพยนตร์เกาหลีใต้เรื่องแรกที่คว้ารางวัลใหญ่ในเทศกาลภาพยนตร์ภาพยนตร์เวนิส ที่เนื้อหาโจมตีระบบทุนนิยมของเกาหลีใต้ โดยเลือกถ่ายทำที่ชองกเย แหล่งท่องเที่ยวของกรุงโซลที่พัฒนาจากย่านชุมชนแออัดที่ฉากหลังยังมีชาวบ้านยากจนที่ยอมแลกอวัยวะของตนเพื่อรายได้ประทังชีวิต

อีเทคควัน ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยคยองฮีและนักวิพากษ์สังคมเกาหลี กล่าวว่า หนังยุคแรกของคิมคีดุ๊กสนองคุณค่าด้านศิลปะของผู้สร้างเป็นหลัก แต่งานยุคหลังสะท้อนมุมมองด้านคุณธรรมมากขึ้น แม้ไม่อาจบอกได้ว่า Pieta เป็นผลงานที่ดีกว่ายุคแรก แต่เห็นได้ชัดเจนถึงผลงานที่เข้าถึงผู้ชมในวงกว้างมากขึ้น

ความสำเร็จของ Pieta ทำให้วันนี้คิมคีดุ๊กกลายเป็นนักสร้างภาพยนตร์เนื้อหอม หนังของเขาถูกเลือกเป็นตัวแทนเข้าชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศ แต่ยอมรับว่าหลายคนที่มาแสดงความชื่นชมเขาส่วนใหญ่ไม่เคยดูหนังของเขาซักเรื่อง และไม่คิดที่จะสานต่อความสำเร็จด้วยการทำหนังเอาใจคนดูมากขึ้น เพราะประสบการณ์จากการสร้างหนังด้วยตนเองทำให้ ไม่สามารถทำหนังตามแนวทางตลาดได้ และไม่คาดหวังว่าผลงานในอนาคตจะเป็นที่สนใจของแฟนหนังมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่


ข่าวที่เกี่ยวข้อง