ชาวสกอต "อารมณ์ค้าง" จากประชามติแยกสกอตแลนด์ คาดใช้ออกมาใช้สิทธิถึง 80%

ต่างประเทศ
6 พ.ค. 58
13:40
281
Logo Thai PBS
ชาวสกอต "อารมณ์ค้าง" จากประชามติแยกสกอตแลนด์ คาดใช้ออกมาใช้สิทธิถึง 80%
จังหวะชีวิตของผู้คนในเมืองเอดินเบอระ เมืองหลวงของสกอตแลนด์ดำเนินไปอย่างปกติท่ามกลางสภาพอากาศที่แปรปรวน--ทั้งหนาวเย็น ลมแรง และมีฝนตกสลับแดดออก หากไม่บอกคงไม่รู้ว่าวันพรุ่งนี้ (7 พ.ค.2558) เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งที่ประชาชนชาวสกอตจะได้กำหนดอนาคตตัวเอง

บรรยากาศก่อนการเลือกตั้งทั่วไปของสหราชอาณาจักร ไม่ว่าจะเป็นในกรุงลอนดอนหรือสกอตแลนด์ แตกต่างจากเมืองไทยค่อนข้างมาก ไม่มีการติดป้ายหาเสียงตามท้องถนน ไม่มีโปสเตอร์รูปผู้สมัครปิดตามกำแพงตึกหรือตู้โทรศัพท์ พรรคการเมืองอาจเช่าป้ายโฆษณาขึ้นป้ายหาเสียงบ้างแต่ก็มีน้อยมาก นานๆ ที่จะเห็นบ้านคนที่ติดสัญลักษณ์ของพรรคการเมืองที่ตนสนับสนุนไว้ที่หน้าต่างบ้าน ถ้ามองผ่านๆ ดูเหมือนการเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่คึกคักเอาเสียเลย

สมรภูมิการหาเสียงที่แท้จริงอยู่ในสื่อทั้งโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ที่เต็มไปด้วยข่าวความเคลื่อนไหวในโค้งสุดท้าย ขณะที่ผู้สมัครลงพื้นที่หาเสียงแบบ "เคาะประตูบ้าน" กันจนวินาทีสุดท้าย "นิโคลา สเตอร์เจียน" หัวหน้าพรรคแห่งชาติสกอตแลนด์ (Scottish National Party) หรือ SNP เองก็เดินหาเสียงในเมืองเอดินเบอระท่ามกลางสายฝนเมื่อวานนี้ (5 พ.ค.)

แม้ภาพรวมจะดูไม่ค่อยคึกคัก แต่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีผู้ออกมาใช้สิทธิมากที่สุดครั้งหนึ่ง คือ อาจจะถึง 70 เปอร์เซ็นต์ทั่วสหราชอาณาจักร และสำหรับสกอตแลนด์อาจจะมีผู้ออกมาใช้สิทธิมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์หรือใกล้เคียงกับการออกมาใช้สิทธิลงประชามติแยกสกอตแลนด์ออกจากสหราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2557 ซึ่งมีผู้มาใช้สิทธิสูงถึง 84.5 เปอร์เซ็นต์ เหตุที่คนสกอตน่าจะมาออกมาใช้สิทธิกันเยอะนั้นหลายคนมองว่าเป็นเพราะชาวสกอตยัง "อารมณ์ค้าง" จากการลงประชามติแยกประเทศเมื่อปีที่แล้ว จึงใช้การเลือกตั้งครั้งนี้แสดงออกถึงความปรารถนาที่จะกำหนดอนาคตตัวเองอีกครั้ง

สกอตแลนด์จึงเป็นพื้นที่ที่น่าจับตาที่สุดพื้นที่หนึ่งในการเลือกตั้งของสหราชอาณาจักรวันพรุ่งนี้ สกอตแลนด์มีประชากรประมาณ 5 ล้านคน มีส.ส.ทั้งหมด 59 ที่นั่ง ในการเลือกตั้งคราวที่แล้วพรรค SNP ได้เพียง 6 ที่นั่ง ส่วนพรรคแรงงานได้ไปถึง 41 ที่นั่งสิ่งที่จะต้องคอยดูก็คือ พรรค SNP จะช่วงชิงที่นั่งมาจากพรรคแรงงานได้มากแค่ไหน

ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสพูดคุยกับชาวสกอตแลนด์ซึ่งมีมุมมองต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ที่แตกต่างหลากหลาย มีทั้งที่เปลี่ยนจากพรรคแรงงานมาเลือกพรรค SNP เป็นครั้งแรก และที่จะไม่ไปเลือกตั้งเลยเพราะเบื่อหน่ายนักการเมือง ขณะที่นักการเมืองท้องถิ่นในสกอตแลนด์ทั้งจากพรรค SNP และพรรคแรงงานต่างรอลุ้นผลการเลือกตั้งที่่จะออกมาในคืนวันที่ 7 พ.ค.นี้อย่างใจจดใจจ่อ

แอนดรูว์ ฮิกกินส์ อดีตนายตำรวจที่ลาออกมาทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กับภรรยาคนไทยบอกว่า เขาจะไปเลือกตั้งในวันพรุ่งนี้ (7 พ.ค.) แน่นอนเพราะเป็นหน้าที่ของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย เขาจะเลือกพรรคอนุรักษ์นิยมของนายเดวิด คาเมรอน เพราะประทับในผลงานในการนำพาสหราชอาณาจักรฝันฝ่าช่วงเวลาเศรษฐกิจถดถอยมาได้ แม้ขณะนี้จะยังมีปัญหาเศรษฐกิจอยู่บ้างแต่แนวโน้มก็ดีขึ้น

อัลแลน แกร์ อายุ 54 ปี บอกว่าเขาจะไม่ไปเลือกตั้งเพราะเขาไม่เชื่อว่าว่านักการเมืองจะทำในสิ่งที่สัญญาไว้ตอนหาเสียง ตอนนี้เขาเบื่อข่าวการเมืองมากถึงขนาดว่าเมื่อมีข่าวเกี่ยวกับการเลือกตั้งทางโทรทัศน์เขาจะเปลี่ยนช่องทันที เพราะสิ่งที่นักการเมืองพูดในการหาเสียง กับสิ่งที่พวกเขาทำจริงๆ เมื่อได้เข้าไปนั่งในสภาฯ มักแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง 

"ผมไม่เชื่อในสิ่งที่พวกเขาพูด ก็เลยคิดว่าไม่มีนักการเมืองคนไหนสมควรที่จะได้คะแนนเสียงของผมไป พวกนักการเมืองมักจะเปลี่ยนจุดยืนและทำแต่สิ่งที่ตัวเองอยากทำเมื่อเข้าไปมีอำนาจในการตัดสินใจแล้ว การเลือกตั้งครั้งนี้ก็คงจะเป็นเหมือนเดิม" อัลแลนกล่าว

จอร์จ อายุ 64 ปี คนขับแท็กซี่ในกรุงเอดินเบอระบอกว่า เขาไม่รู้สึกตื่นเต้นกับการเลือกตั้งครั้งนี้เพราะคาดว่าจะไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมากในสภาฯ ซึ่งจะทำให้รัฐบาลชุดใหม่ของสหราชอาณาจักรเป็นรัฐบาลผสม

"แต่ถึงอย่างไรผมก็จะไปลงคะแนน และนี่จะเป็นครั้งแรกที่ผมจะเลือกส.ส.พรรค SNP ที่ผ่านมาผมเลือกพรรคแรงงานทุกครั้ง แต่ครั้งนี้ผมจะเปลี่ยนมาเลือกพรรค SNP เพราตลอดเวลาที่ผ่านมาพรรคแรงงานทำงานไม่เข้าตา ไม่ว่าจะเป็นผลงานในอังกฤษหรือในสกอตแลนด์ ครั้งนี้ผมก็เลยตัดสินใจว่าจะให้โอกาสพรรค SNP ดูบ้าง" จอร์จให้ความเห็น

จอร์จบอกว่าเขาเปลี่ยนใจมาสนับสนุนพรรค SNP ตั้งแต่วันที่เขาไปลงประชามติเรื่องการแยกสกอตแลนด์ออกจากสหราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2557 ซึ่งพรรค SNP เป็นพรรคที่สนับสนุนการแยกตัวเป็นอิสระและผลักดันการลงประชามติในครั้งนั้น เหตุผลที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เขาอยากเลือกพรรคนี้ก็เพราะว่าอยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับสกอตแลนด์มากขึ้น

"ที่ผ่านมารัฐบาลอังกฤษมักจะสนใจแต่พื้นที่ทางภาพตะวันออกเฉียงใต้ของสหราชอาณาจักร ในขณะที่ภาคอื่นๆ ไม่ได้รับการเหลียวแล"  จอร์จบอกด้วยว่าเขาให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา (Scottish Parliament) ที่จะมีขึ้นในปีหน้ามากกว่าการเลือกตั้งทั่วไปของสหราชอาณาจักร เพราะรัฐสภาสกอตแลนด์มีผลโดยตรงต่อการกำหนดนโยบายที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตของผู้คนในสกอตแลนด์

เดวิด คีย์ ที่ปรึกษาสภาท้องถิ่นเอดินเบอระ จากพรรค SNP ยอมรับว่าหลังจากจัดลงประชามติแยกประเทศสกอตแลนด์เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งพรรค SNP เป็นผู้สนับสนุนให้มีการลงประชามติ พรรคมีผู้สนับสนุนเพิ่มมากขึ้นประกอบกับประชาชนอาจจะเริ่่มเบื่อกับการเลือก 2 พรรคใหญ่อย่างพรรคอนุรักษ์นิยมและพรรคแรงงานจึงมองหาทางเลือกที่ 3 อย่างพรรค SNP 

เมื่อถามถึงนโยบายว่าพรรค SNP จะผลักดันให้มีการลงประชามติเรื่องแยกสกอตแลนด์อีกครั้งหรือไม่ เดวิดตอบว่า การลงประชามติไม่ใช่ประเด็นเร่งด่วน เป้าหมายสำคัญในขณะนี้คือพยายามทำให้พรรค SNP ได้ที่นั่งในสภามากที่สุดเพื่อให้ชาวสกอตแลนด์มีเสียงดังขึ้นในสภาที่เวสต์มินสเตอร์

"เราจะทำให้เสียงของชาวสกอตมีความสำคัญในสภาฯ เราต้องการส่งสัญญาณให้รู้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ สถานการณ์ในสกอตแลนด์ได้เปลี่ยนไปแล้ว และพรรคการเมืองใหญ่ๆ จำเป็นจะต้องหันมาให้ความสำคัญกับเสียงของชาวสกอตแลนด์ ที่ผ่านมาคนอาจไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากโหวตให้พรรคอนุรักษ์นิยมหรือไม่ก็พรรคแรงงาน แต่ตอนนี้ประชาชนมี SNP เป็นทางเลือกที่ 3 และถ้าพรรคไหนต้องการเป็นรัฐบาลจะต้องฟังเสียงของเรา เราต้องการจะเปลี่ยนแปลงนโยบายของสหราชอาณาจักรไปในทางที่สอดคล้องกับความต้องการของชาวสกอตแลนด์มากขึ้น" เดวิดกล่าว

เดวิดคาดว่าจะมีการจัดลงประชามติเรื่องสกอตแลนด์แยกตัวอีกครั้ง และเขาเชื่อว่าสกอตแลนด์จะแยกเป็นประเทศอิสระภายใน 20 ปี

แอนดรูว์ เบิร์นส ที่ปรึกษาสภาท้องถิ่นเอดินเบอระ จากพรรคแรงงาน ยอมรับว่า คนเริ่มหันมาสนใจ SNP มากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นเพราะการรณรงค์ของพรรค SNP ในการลงประชามติแยกสกอตแลนด์เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งผลการลงประชามติออกมาค่อนข้างสูสีกันคือเสียงของผู้ที่ไม่ต้องการให้แยกเป็นอิสระ 55 ต่อ 45 เปอร์เซ็นต์

แอนดรูว์ประเมินว่า การเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ผ่านๆ มา คนจะออกมาใช้สิทธิประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ แต่เชื่อว่าการเลือกตั้งในวันพรุ่งนี้คนจะออกมาใช้สิทธิมากกว่าครั้งก่อนๆ คือ เกิน 70 เปอร์เซ็นต์ และในสกอตแลนด์อาจจะมีผู้มาใช้สิทธิถึง 80 เปอร์เซ็นต์เกือบเท่ากับตอนที่ลงประชามติ          

"ความตื่นตัวจากการลงประชามติในครั้งนั้นได้แปรเปลี่ยนมาเป็นเสียงสนับสนุนพรรค SNP  ซึ่งต้องยอมรับว่าส่งผลกระทบต่อพรรคแรงงานไม่น้อย ดังนั้นพรรค SNP น่าจะทำผลงานได้ดีในการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่พรรคแรงงานก็คงไม่แย่กว่าเดิมซึ่งเราเคยได้ 41 ที่นั่งในการเลือกตั้งคร้้งที่แล้ว แต่อย่าลืมว่าการเลือกตั้งวันพรุ่งนี้ (7 พ.ค.) เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ไม่ใช่แค่ในสกอตแลนด์ มีส.ส.เพียง 59 ที่นั่งจากทั้งหมด 650 ที่นั่ง หรือน้อยกว่าลอนดอนเพียงเมืองเดียวที่มีส.ส.ได้ถึง 73 คน ซึ่งถ้าดูภาพรวมแล้วคู่แข่งที่สูสีกันจริงๆ ก็คือพรรคแรงงานกับพรรคอนุรักษ์นิยม" นักการเมืองจากพรรคแรงงานกล่าว

กุลธิดา สามะพุทธิ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์  รายงานจากสกอตแลนด์

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง