7 ภาพลวงตกแต่งเหตุเฮอร์ริเคนแซนดี้ถล่มสหรัฐฯ

ต่างประเทศ
31 ต.ค. 55
03:06
82
Logo Thai PBS
7 ภาพลวงตกแต่งเหตุเฮอร์ริเคนแซนดี้ถล่มสหรัฐฯ

โลกออนไลน์มีการโพสต์ข้อความสถานการณ์พายุเฮอร์ริเคนแซนดี้ในเว็บไซต์ต่างๆ โดยมีการแชร์ภาพผลกระทบจากพายุ ที่เป็นภาพเก่านำมาตกแต่งใหม่ ทำให้ผู้คนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นภาพจริงที่เกิดขึ้น

เว็บไซต์ mashable.com เปิดเผยว่า มี 7 ภาพ ที่มีการแชร์ส่งต่อหลอกลวงว่าเป็นเหตุการณ์จากเฮอร์ริเคนแซนดี้ ทำให้มีผู้เข้าใจว่า เป็นเหตุการณ์จริง โดยหลายภาพไม่มีการยืนยันว่ามาจากแหล่งใด และส่วนใหญ่เป็นภาพเก่าที่นำมาตกแต่งใหม่ ดังนี้

1. ภาพทหารรักษาความปลอดภัยในอนุสาวรีย์ทหารนิรนามขณะที่ฝนกำลังตก ซึ่งในความเป็นจริง ภาพนี้ถูกถ่ายขึ้นเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

2. ภาพคลื่นซัดอนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพ แต่กลับปรากฏว่าเป็นภาพจาก ภาพยนตร์เรื่อง The Day After Tomorrow ที่ถูกนำมาตัดต่อใหม่ และ มีการขึ้นตัวอักษรระบุว่า เป็นภาพที่ออกอากาศสดทางโทรทัศน์ท้องถิ่นช่องหนึ่งในนิวยอร์ก จนทำให้คนจำนวนมากคิดว่าเป็นภาพเหตุการณ์จริง แต่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องได้ออกมาชี้แจงแล้วว่าไม่ใช่ภาพเฮอร์ริเคนแซนดี้แต่อย่างใด

3. ภาพเมฆม้วนเป็นทอร์นาโดเหนือท้องฟ้าแมนฮัตตัน ซึ่งภาพนี้เป็นภาพเก่าที่ถูก ตีพิมพ์ในวอลล์สตรีท เจอร์นัล เมื่อปี ค.ศ.2011

4.ภาพเมฆดำเหนืออนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพ เป็นภาพที่ถูกตกแต่งขึ้นด้วยโปรแกรมโฟโตช็อป โดยนำภาพต้นฉบับที่ถูกถ่ายจากท่าเรือนิวยอร์กเมื่อปีค.ศ. 2004 มาตกแต่งใหม่

5.ภาพเมฆดำเหนือสะพาน จอร์จ วอชิงตัน แต่ภาพจริงถูกถ่ายขึ้นเมื่อปี ค.ศ.2009

6.ภาพน้ำท่วมภายในร้านแมคโดนัลด์ เป็นภาพจากคลิปงานศิลปะการจัดวางที่ถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ.2009

7.ภาพฉลามว่ายน้ำบนถนนใน นิวเจอร์ซีย์ เป็นภาพตัดต่อ ที่ถูกโพสต์เป็นประจำเมื่อมีเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยเหตุการณ์เฮอร์ริเคนไอรีนพัดถล่มสหรัฐฯในปี ค.ศ.2011 มีการโพสต์ภาพนี้เช่นกัน และถูกพิสูจน์แล้วว่าเป็นภาพที่ถูกตกแต่งขึ้น

ส่วนผู้ใช้บริการเฟสบุค มีการพูดถึงคำ 10 คำ ที่เกี่ยวกับเฮอร์ริเคนแซนดี้มากที่สุด ได้แก่คำว่า แซนดี้ พายุหมุนเฮอร์ริเคน ,ความปลอดภัย, สภาพอากาศ, ชายฝั่งตะวันออก , พลังงาน, ลม และคำว่าสวดมนต์ หรืออธิษฐาน

ขณะที่ Google ทำแผนที่ภัยพิบัติ สามารถระบุว่าเมืองใดได้รับผลกระทบจากเฮอร์ริเคนแซนดี้ โดยจะบอกถึงสถานการณ์ สภาพอากาศ พื้นที่ที่มีการดับไฟฟ้า พื้นที่เฝ้าระวัง รวมถึงศูนย์พักพิง โดยสามารถซูมแผนที่โดยใช้เมาส์เลื่อนเพื่อซูมไปยังพื้นที่ และสามารถแบ่งปันข้อมูลสถานการณ์ไปยัง กูเกิ้ล พลัส ทวิตเตอร์ หรือแม้แต่เฟสบุคได้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง