ตรวจสอบความไม่โปร่งใสการประกวดราคา-เปรียบเทียบคุณสมบัติ จยย.ตำรวจ

2 พ.ย. 55
13:49
193
Logo Thai PBS
ตรวจสอบความไม่โปร่งใสการประกวดราคา-เปรียบเทียบคุณสมบัติ จยย.ตำรวจ

ไทยพีบีเอสยังตรวจสอบโครงการจัดซื้อรถจักรยานยนต์ไทเกอร์ กว่า 19,000 คัน งบประมาณ 1,200 ล้านบาท ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยพบว่า ในปี 2550 ช่วงที่มีการประกวดราคาโครงการนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กำหนดคุณสมบัติรถจักรยานยนต์ที่จะจัดซื้อไว้ที่ขนาดเครื่องยนต์ 200 ซีซี ซึ่งไม่เป็นที่นิยมในประเทศไทย

<"">

 

นี่เป็นรถจักรยานยนต์ ขนาด 200 ซีซี ที่มีมีอยู่ในท้องตลาด 2 รุ่น ในช่วงปี 2550 ที่มีการประกวดราคาจัดซื้อรถจักรยานยนต์ 19447 คัน ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คือ รถจักรยานยนต์ไทเกอร์ รุ่น บ็อกเซอร์ 200 และรถจักรยานยนต์ฮอนด้า รุ่น แฟนท่อม ซึ่งแม้ว่า ในช่วงนั้นจะมีรถจักรยานยนต์ขนาด 200 ซีซี อีกบางยี่ห้อคือ แพลตทินั่ม และเจอาร์ดี แต่ 2 ยี่ห้อนี้ไม่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ เพราะโรงงานผลิตไม่ได้มาตรฐาน

เมื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กำหนดคุณสมบัติต้องการซื้อรถจักรยานยนต์ขนาด 200 ซีซี จึงมีตัวเลือกไม่มากนัก เพราะตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยนิยมผลิตรถขนาดเครื่องยนต์ 150 ซีซี และข้ามไป 250 ซีซี มากกว่า และเมื่อมาถึงขั้นตอนการประกวดราคา มีข้อมูลจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.ว่า ตัวแทนจำหน่ายของฮอนด้า แฟนท่อม ถอนตัวไป เพราะรถรุ่นนี้ ราคากว่า 80,000 บาท ไม่สามารถประกวดราคาแข่งขันกับรถจักรยานยนต์ไทเกอร์ที่มีราคาเพียงกว่า 60,000 บาทได้

<"">

ไทยพีบีเอส ตรวจสอบกับผู้เชี่ยวชาญในวงการนิตยสารเกี่ยวกับรถจักรยานยนต์ เพราะมีข้อสังเกตว่า การกำหนดคุณสมบัติเครื่องยนต์ที่ 200 ซีซี ทำให้ไม่มีการแข่งขันหรือไม่ ได้ข้อมูลว่า แม้รถจักรยานยนต์ไทเกอร์ บ็อกเซอร์ จะมีขนาดเครื่องยนต์ 200 ซีซีจริง แต่เมื่อเปรียบเทียบด้านคุณภาพ ก็ต่างจากฮอนด้า แฟนท่อมมาก

ผู้เชี่ยวชาญให้ข้อมูลว่าจุดที่สามารถสังเกตความแตกต่างของรถทั้ง 2 รุ่น ด้วยเพียงการมองได้ มีหลายจุด ตั้งแต่จุดที่เป็นชิ้นส่วนภายนอกต่างๆ ซึ่งใช้วัสดุแตกต่างกัน โคมไฟ ซึ่งรถไทเกอร์ เมื่อใช้งานไปจะมีฝ้าจับไม่ใสเหมือนไฟรถโดยทั่วไป หรือแม้แต่ชิ้นส่วนต่างๆที่เป็นเหล็ก จะสังเกตได้ว่า รถฮอนด้า จะมีลักษณะเงาวาว เพราะใช้สแตนเลส หรือโลหะชุบ แต่ในรถไทเกอร์ จะใช้เหล็กล้วน ซึ่งทำให้ขึ้นสนิมได้ง่ายเมื่อโดนน้ำ

<"">

ส่วนเครื่องยนต์ ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า หากมองจากภายนอกเพียงผิวเผินจะมีลักษณะคล้ายกัน แต่แท้จริงแล้วรถ 2 รุ่นนี้ใช้วัสดุแตกต่างกันมาก ทั้งคาร์บูเรเตอร์ กระบอกสูบ หัวเทียน นมหนู ลูกลอย ซึ่งจะพบความแตกต่างได้ชัดเจนเมื่อใช้งาน เพราะระบบการทำงานของรถไทเกอร์จะไม่ลื่นไหล การจุดระเบิดภายในครื่องยนต์จะทำให้การเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ พร้อมให้ข้อมูลด้วยว่า รถจักรยานยนต์ทั่วไปที่ขายอยู่ในท้องตลาด จะใช้วัสดุที่ผลิตในประเทศไทย ซึ่งเป็นฐานการผลิตของรถญี่ปุ่น แต่รถจักรยานยนต์ไทเกอร์ ที่ประกาศว่าเป็นของคนไทย แท้จริงแล้วใช้อะไหล่ที่นำเข้ามาจากประเทศจีน เช่นเดียวกับอีก 2 ยี่ห้อที่ไม่ผ่านมาตรฐาน แต่ไม่สามารถบอกแหล่งที่มาที่แน่ชัดได้ เพราะในจีนมีโรงงานผลิตอะไหล่ ที่มีลักษณะการลอกแบบมาจากรถญี่ปุ่นเช่นนี้อยู่มากกว่า 1,000 แห่ง

ดังนั้นรถไทเกอร์ จึงมีราคาต้นทุนต่ำกว่า รถฮอนด้าแฟนท่อมมาก ทำให้รถจักรยานยนต์ฮอนด้า แฟนท่อม ไม่มีโอกาสแข่งขันด้านราคาให้ต่ำกว่าได้ หากกำหนดคุณสมบัติไว้ที่ขนาดเครื่องยนต์พียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงประสิทธิภาพ

ไทยพีบีเอส ยังพยายามตรวจสอบเลขไมล์ ที่บ่งบอกระยะทางที่รถซึ่งจอดเสียอยู่เหล่านี้ใช้งานไป พบว่า ส่วนใหญ่ใช้งานไปประมาณ 20,000-40,000 กิโลเมตรเท่านั้น ขณะที่บางคัน มีอายุการใช้งานเพียงไม่กี่พันกิโลเมตร โดยมีข้อมูลด้วยว่า รถจักรยานยนต์ไทเกอร์ บ็อกเซอร์ 200 นี้ เคยผลิตออกมาขายในตลาดก่อนที่จะขายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเล็กน้อย โดยตั้งราคาขายประมาณ 64,000 บาทต่อคัน ซึ่งเป็นราคาใกล้เคียงกับที่ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติซื้อมาในจำนวนเกือบ 20,000 คัน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง