กรมวิชาการเกษตร เตรียมวางกรอบควบคุมเคมีเกษตรร้ายแรง 4 ชนิด

Logo Thai PBS
กรมวิชาการเกษตร เตรียมวางกรอบควบคุมเคมีเกษตรร้ายแรง 4 ชนิด

ภายหลังพระราชบัญญัติวัตถุอันตรายฉบับแก้ไข ปี 2551 มีผลบังคับใช้ วันที่ 22 สิงหาคม 2554 ผู้นำเข้าเคมีเกษตร ต้องกลับมาขึ้นทะเบียนและขอใบอนุญาตผลิตในประเทศใหม่ ขณะนี้อธิบดีกรมวิชาการเกษตร อนุมัติการขึ้นทะเบียนเคมีเกษตรแล้วกว่า 2,100 รายการ จากทั้งหมดเกือบ 8,000 รายการ พร้อมวางกรอบเวลาตัดสินใจทิศทางกำกับเคมีเกษตรร้ายแรง 4 ชนิด

รายงานจากระบบเฝ้าระวังการปนเปื้อนสารเคมี สหภาพยุโรป ยังคงพบพืชผักจากไทยปนเปื้อนเคมีเกษตรตกห้ามของ อียู โดยเฉพาะ เมธโทมิล์ย คาร์โบฟูราน และอีพีเอ็น ซึ่งพบในพืชตระกูลถั่ว มะเขือเทศ และมะละกอ ซึ่งอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ยอมรับว่า การส่งออกพืชผักจำนวนมาก ย่อมมีพืชผักบางส่วนตกค่ามาตรฐานความปลอดภัยอาหารของอียู แต่โดยรวมถือว่า ไม่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นสินค้าเกษตรไทย

ส่วนความคืบหน้าพิจารณาขึ้นทะเบียนเคมีเกษตรร้ายแรง 4 ชนิด อยู่ระหว่างการรอผลวิเคราะห์และทดลองความเป็นพิษวิทยา และพิษตกค้าง พร้อมเตรียมเปิดประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ภายในเดือนนี้ หลังพบการนำเสนอข้อมูลที่คลาดเคลื่อน โดยพร้อมชี้แจงกับทุกฝ่าย ก่อนรวบรวมความเห็น ผลกระทบทางสังคมเศรษฐกิจ และข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ เสนอคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณา คาดว่าจะสรุป ภายใน 2 เดือน

นายดำรงค์ จิระสุทัศน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ยอมรับว่า ราคารับจำนำข้าวที่สูงกว่าตลาด จูงใจให้เกษตรกรใช้เคมีเกษตรจำนวนมากกว่าปกติ ประกอบกับ ปัญหาการทำงานหลายหน่วยงาน ทำให้ไม่สามารถควบคุมการใช้สารเคมีทางการเกษตรได้ทั่วถึง ซ้ำหน่วยงานราชการบางส่วน ยังละเลยการตรวจสอบตามขั้นตอน แต่กลับเร่งจัดซื้อสารเคมีเกษตรสำหรับปราบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ซึ่งอาจกระตุ้นการระบาดในฤดูการผลิตต่อไป หรือก่อพิษสะสมในเกษตรกรและสิ่งแวดล้อม แต่ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตร ลงพื้นที่ให้ความรู้เกษตร เพื่อเพิ่มความระมัดระวัง รวมทั้ง ปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากข้างขวดสารเคมีอย่างเคร่งเครัด

สำนักควบคุมและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ระบุว่า 9 เดือนแรกของปี 2555 ไทย นำเข้าเคมีเกษตรทุกประเภท รวมกันกว่า 114 ล้านกิโลกรัม มูลค่ากว่า 16,000 ล้านบาท ส่วนการนำเข้าสารชีวภาพเพื่อใช้ในการเกษตร มีเพียง 10,000 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่ากว่า 21 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าอาจใกล้เคียงกับปริมาณการนำเข้าปีที่แล้ว (2554) ทั้งปี


ข่าวที่เกี่ยวข้อง