กลุ่ม"ค้าน-หนุน"ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทเข้าพบรมว.แรงงาน

เศรษฐกิจ
5 พ.ย. 55
06:26
110
Logo Thai PBS
กลุ่ม"ค้าน-หนุน"ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทเข้าพบรมว.แรงงาน

เหลือเวลาไม่ถึง 2 เดือนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทในอีก 70 จังหวัด ก็จะมีผลบังคับใช้ ซึ่งนโยบายดังกล่าวมีทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยกับกลุ่มที่คัดค้าน โดยในวันนี้ทั้ง 2 กลุ่มได้ไปยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

วันที่ 1 มกราคม 2556 จะมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทใน 70 จังหวัดที่เหลือ ซึ่งส่งผลให้มีทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยและคัดค้านการขึ้นค่าจ้างดังกล่าว โดยฝ่ายผู้ประกอบการ ไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ โดยเสนอให้เลื่อนการปรับขึ้นค่าจ้างไปอีก 2 ปี คือให้ปรับขึ้นในปี 2558 เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ปรับตัว แม้ว่ากระทรวงแรงงานจะออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี ซึ่งคาดว่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าจ้าง จำนวน 27 ข้อ

ขณะที่ผ่ายที่สนับสนุนเห็นว่า การปรับขึ้นค่าจ้างจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ใช้แรงงานที่ถูกกดขี่ค่าแรงอย่างไม่เป็นธรรมและไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ ซึ่งการขึ้นค่าจ้างจะทำให้ผู้ใช้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

โดยนายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ยื่นหนังสือให้กับนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงงาน เพื่อให้ยืนยันนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทในต้นปีหน้า (2556)

ด้านนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า หลังรัฐบาลประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300บาท ใน 7 จังหวัดนำร่องในวันที่ 1 เมษายน 2555 ได้ศึกษาผลกระทบกับทุกฝ่ายมาโดยตลอด พร้อมยืนยันจะคงนโยบายเดิมและจะให้ความเป็นกับทุกฝ่าย

ขณะที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ เตรียมยื่นหนังสือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยขอให้เลื่อนการปรับขึ้นค่าจ้างไปอีก 2 ปี คือ 2558 รวมทั้งเห็นว่ามาตรการช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี 27 ข้อยังไม่มีรัดกุมเพียงพอ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง