ศจย.เรียกร้องรัฐบาลทำตามกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบ

เศรษฐกิจ
6 พ.ย. 55
06:00
76
Logo Thai PBS
ศจย.เรียกร้องรัฐบาลทำตามกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบ

ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้ควบคุมยาสูบ ระบุว่าการที่รัฐบาลไทยยังไม่ดำเนินการตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ ทำให้ไทยถูกแทรกแซงด้านนโยบายจากบริษัทผู้ผลิตบุหรี่ ในหลากหลายรูปแบบ โดยเรียกร้องให้ภาครัฐ เร่งผลักดันมาตรการให้มีผลบังคับใช้ในวงกว้างไม่ใช่จำกัดเฉพาะหน่วยงานราชการบางส่วนเท่านั้น

ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้ควบคุมยาสูบ(ศจย.) มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่าเป็นเวลากว่า 4 ปีแล้ว ที่สมาชิกองค์การอนามัยโลกต้องดำเนินมาตรการควบคุมการบริโภคยาสูบ ตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ ในมาตรา 5.3 เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยาสูบ แทรกแซงนโยบายของรัฐ แต่ประเทศไทยยังไม่มีมาตรการรองรับอนุสัญญาดังกล่าว โดยเมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีเพิ่งเห็นชอบมาตรการในการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพด้านยาสูบ เพื่อให้หน่วยงานต่างๆต้องทำตามกรอบอนุสัญญา ที่ผ่านมามาตรการควบคุมยาสูบของไทยจึงอ่อนแอและยังไม่ได้นำไปสู่การปฏิบัติ

นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทยและประธานรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก มองว่า 4ปีที่ไทยไม่สามารถดำเนินการได้ตามกรอบอนุสัญญา เป็นการเสียประโยชน์อย่างมาก ทำให้ปัจจุบันทำให้ไทยถูกแทรกแซงจากบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ ที่เข้ามาในรูปแบบจัดตั้งองค์กรบังหน้าเพื่อชักจูงเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบให้ได้รับข้อมูลที่บิดเบือน โดยที่ไม่ได้ทำให้บริษัทเสียประโยชน์และออกมาคัดค้านทุกมาตรการภาครัฐที่ควบคุมยาสูบ โดยเฉพาะร่างกฎหมายควบคุมการบริโภคยาสูบฉบับใหม่ จึงเห็นว่าการปฏิบัติตามมาตรา 5.3 มีความจำเป็นที่ภาครัฐต้องเร่งผลักดันให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว

นพ.หทัย ยังเรียกร้องให้ภาครัฐ เร่งออกมาตรการเพื่อให้มีผลบังคับใช้ในทางสาธารณะ และแพร่หลายมากกว่าการบังคับใช้เพียงแค่บางหน่วยงานและภาครัฐต้องเร่งผลักดันนโยบายที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จได้แก่ การควบคุมการห้ามทำกิจกรรม ซีเอสอาร์ และโฆษณาของบริษัทบุหรี่ และห้ามโฆษณาผ่านอินเทอร์เน็ตของผลิตภัณฑ์ยาสูบ การเพิ่มสิทธิหลักประกันการรักษาโรคติดบุหรี่ การบังคับใช้กฎหมายควบคุมยาสูบที่ผิดกฎหมายและปราบปรามการลักลอบนำเข้าบุหรี่เถื่อน

ขณะที่ข้อมูลของ ศจย. ที่สำรวจความพึ่งพอใจเรื่องมาตรการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพด้านยาสูบของรัฐ โดยมี 38 องค์กรสุขภาพเป็นผู้ประเมิน หลังครบ 6เดือนที่ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการดังกล่าว พบว่า การดำเนินตามนดยบายยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ เฉลี่ยที่ 3.3 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 โดยหน่วยงานที่มีความพึงพอใจมากที่สุดคือ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ขณะที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความพึงพอใจน้อยที่สุด


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง