นักวิชาการทีดีอาร์ไอ เตือนอีกครั้ง โครงการรับจำนำข้าวกระทบหนี้สาธารณะพุ่ง

เศรษฐกิจ
13 พ.ย. 55
04:07
87
Logo Thai PBS
นักวิชาการทีดีอาร์ไอ เตือนอีกครั้ง โครงการรับจำนำข้าวกระทบหนี้สาธารณะพุ่ง

ยังคงมีการวิพากษ์วิจารณ์และความคิดเห็นอย่างต่อเนื่องสำหรับปัญหาโครงการรับจำนำข้าว ล่าสุดมีการส่งสัญญาณอันตรายอีกครั้งผ่านเวทีเสวนา "ข้าว ชาวนา นักการเมือง และประเทศชาติ ใครได้ใครเสีย" ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวานนี้

รวมถึงคำเตือนจากอดีตรองนายกรัฐมนตรีโดยระบุว่า โครงการนี้กำลังทำให้ประเทศเดินเข้าสู่วิกฤตหนี้สาธารณะของประเทศที่อาจพุ่งเกินร้อยละ 60 ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา พิสูจน์แล้วว่าโครงการนี้เกิดปัญหาการส่งออกที่ลดลง ปัญหาทุจริต และกำลังทำให้หนี้สาธารณะของประเทศพุ่งสูงขึ้น จากปัจจุบันที่ร้อยละ 44 และคาดว่าจะเป็นร้อยละ 61 ในปี 2562 ซึ่งใกล้เคียงกับหนี้สาธารณะที่เกิดกับประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป

ทั้งนี้รัฐบาลยังต้องแบกรับภาระขาดทุน 4.5 หมื่นล้านบาท จากการรับจำนำข้าวนาปีฤดูกาลผลิต 2554/2555 จำนวน 6 ล้านตัน ที่ใช้งบประมาณ 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งหากรวมการรับจำนำทั้งปีที่มีผลผลิตข้าวเข้าโครงการ 21.6 ล้านตัน จะทำให้รัฐบาลขาดทุนประมาณถึง 1.4 แสนล้านบาท และเมื่อรวมโครงการรับจำนำข้าวในฤดูกาล 2555/2556 อีก 33 ล้านตัน รัฐบาลจะต้องรับภาระขาดทุนถึง 2.1 แสนล้านบาท

ในงานเสวนา ข้าวชาวนา นักการเมืองและประเทศชาติ ใครได้ใครเสีย ผู้เข้าร่วมเสวนาส่วนใหญ่เห็นว่า โครงการรับจำนำข้าวส่งผลเสียมากกว่าผลดีโดย นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ ระบุว่า ประโยชน์จากโครงการนี้ ตกอยู่กับชาวนากลุ่มน้อยที่มีฐานะ ขณะที่การดำเนินโครงการที่ผ่านมา คาดว่ารัฐบาลขาดทุนไปแล้วกว่า 1.7 แสนล้านบาท

ส่วนนายเดชา ศิริพัชร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ กล่าวว่า การที่ชาวนาเร่งเพิ่มผลผลิต เพื่อนำข้าวเข้าโครงการ ทำให้ข้าวขาดคุณภาพ และโครงการนี้ ก็ไม่ช่วยให้คุณภาพชีวิตของชาวนาดีขึ้น เพราะต้องเผชิญกับต้นทุนการผลิตสูง ทั้งนี้พบว่าชาวนามีหนี้สินเพิ่มขึ้นประมาณ 5 แสนบาทต่อครัวเรือน

เช่นเดียวกับ นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เชื่อว่า ภายใน 1-2 ปีนี้ ไทยจะสูญเสียการเป็นผู้นำมูลค่าส่งออกข้าวเนื่องจากผลผลิตข้าวที่ด้อยคุณภาพ

ส่วนความคืบหน้าคดีทุจริตจำนำข้าว ตำรวจภูธร จ.บุรีรัมย์ สรุปสำนวนคดีมากถึง 3,000 หน้า กล่าวหาผู้เกี่ยวข้องทั้งเกษตรกร และเจ้าหน้าที่รัฐหลายหน่วยงาน รวม 31 คน โดยส่งให้พนักงานอัยการจังหวัดนางรอง เพื่อพิจารณาสั่งฟ้องศาล หลังสอบสวนเกษตรกว่า 400 คน นานกว่า 8 เดือนเสร็จสิ้น ซึ่งพบว่าคดีนี้ สร้างความเสียหายแก่รัฐกว่า 44 ล้านบาท

ขณะที่ จ.อุดรธานี อุบลราชธานี และสุรินทร์ ตำรวจยังจัดกำลังดูแลความเรียบร้อยประจำตามจุดรับจำนำข้าว พร้อมตั้งด่านสกัดการลักลอบนำข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาสวมสิทธิ์ ในช่วงที่ชาวนาทยอยนำผลผลิตเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล


ข่าวที่เกี่ยวข้อง