สานสัมพันธ์อาเซียนกับนักเขียนซีไรต์

Logo Thai PBS
สานสัมพันธ์อาเซียนกับนักเขียนซีไรต์

กว่า 30 ปีที่รางวัลซีไรต์ถูกมอบให้กับนักเขียนในกลุ่มประเทศอาเซียน ไม่เพียงให้กำลังใจผู้สร้างสรรค์งานเขียนที่มีความโดดเด่นในแต่ละปี แต่ยังสานสายสัมพันธ์ประเทศเพื่อนบ้านให้มีความเข้าใจซึ่งกันและกันอย่างแน่นแฟ้นขึ้นด้วย

ความรู้สึกผิดเมื่อทรัพยากรธรรมชาติร่อยหรอ ถูกทำลายด้วยน้ำมือมนุษย์ในยุคปัจจุบัน จนอาจไม่มีอะไรเหลือตกทอดให้คนรุ่นหลัง ถูกกลั่นกรองเป็นบทกวี “Apologia” โดย “อิสมาอิล กัสซัน” นักเขียนรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือ ซีไรต์ จากประเทศมาเลเซีย ซึ่งนำมาแสดงในงานอ่านบทกวีซีไรต์ หนึ่งกิจกรรมที่เกิดขึ้นในงานพบปะนักเขียนซีไรต์จากทั่วอาเซียนประจำปีนี้

40 ปีที่รังสรรค์ผลงานหลากหลายประเภท และคว้ารางวัลมากมายทั้งในและนอกประเทศ โดยเฉพาะด้านบทละคร “อิสมาอิล กัสซัน” เผยว่าแท้จริงแล้วการเขียนนั้นมีความเป็นสากลและไร้พรมแดน

<"">
<"">

 

อิสมาอิล กัสซัน นักเขียนซีไรต์ประเทศมาเลเซีย บอกว่า การเขียนนั้นมีความคล้ายคลึงกันในทุกประเทศ ซึ่งก็คือการแข่งขัน ที่ไม่เพียงทำให้รู้จักสร้างสรรค์และมองโลกในแง่มุมที่แตกต่างแล้ว นักเขียนแต่ละคนยังต้องพัฒนาฝีมือตัวเองอยู่ตลอดเวลาอีกด้วย

“สื่อรักซีไรต์” บทกวีที่ขับขานโดย “ดวงชัย หลวงพาสี” นักเขียนจากประเทศลาว ผู้คว้ารางวัลซีไรต์จากนวนิยายเรื่อง “สายเลือดเดียวกัน” และเจ้าของวรรณกรรมกว่า 115 เรื่อง ไม่เพียงบอกเล่าบทบาทของวรรณกรรมในการเชื่อมโยงโลกอาเซียน แต่ยังสะท้อนมิตรภาพที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของคนรักตัวอักษรในครั้งนี้ ที่จะส่งผลต่อการพัฒนาวงการน้ำหมึกอาเซียนต่อไป

“การได้ร่วมงานนี้เป็นเรื่องที่ดีมาก ได้ความรู้ ได้รู้จักกับเพื่อน 8 ประเทศที่มารวมกัน ได้แลกเปลี่ยนความเห็นร่วมกัน แลกเปลี่ยนความรู้ของแต่ละคน เห็นนิสัยกันและกัน แล้วแลกเปลี่ยนนามบัตรร่วมกัน ร่วมด้วยช่วยกันฟัง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมากๆ” ดวงชัย หลวงพาสี นักเขียนซีไรต์ประเทศลาว กล่าว

<"">
<"">

 

“การที่จะทำให้รางวัลนี้ขยายผลไปสู่ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนต่อประชาชน ต้องมีการสร้างสรรค์ มีการแปล มีการศึกษาร่วมกันให้มากขึ้น แล้วเราจะรู้จักประเทศเหล่านี้ได้มากขึ้น” เจน สงสมพันธุ์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย

“ถ้าเป็นไปได้ ผมอยากให้มีการแข่งขัน เช่น ถ้าปีนิยาย ก็เอานิยายมาประกวดกันอีกทีนึง แข่งกันเลย แต่ไม่ถือว่าเป็นการแข่งขัน เพราะผมมองว่าเป็นการยกระดับ เพราะว่าผมอยากให้เป็นซีไรต์ที่ตั้งความเป็นเลิศทางวรรณกรรม ต่างประเทศจะได้ยินเสียงพวกเราซะที เพราะว่าอย่างน้อยถ้าไปถึงโนเบล รับรองทั่วโลกคงมาฟังเสียงของอาเซียนจริงๆ” วิภาส ศรีทอง นักเขียนซีไรต์ประเทศไทย กล่าว

<"">

 

รางวัลซีไรต์ เริ่มก่อตั้งในปี 2522 เพื่อมอบให้กับนักเขียนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่สร้างสรรค์ผลงานโดดเด่นในแต่ละปี ในปีนี้มีนักเขียนซีไรต์จาก 8 ประเทศมารับรางวัล ได้แก่ ลาว มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ บรูไน และไทย โดยประเทศกัมพูชางดส่งนักเขียนเข้าร่วมงานนี้ติดต่อกันมาเป็นปีที่ 4 และพม่าเป็นปีที่ 10


ข่าวที่เกี่ยวข้อง