นับถอยหลัง 4 เดือน กับความคาดหวังของคนกรุง ต่อผู้ว่า กทม. คนใหม่

สังคม
14 พ.ย. 55
13:41
109
Logo Thai PBS
นับถอยหลัง 4 เดือน กับความคาดหวังของคนกรุง ต่อผู้ว่า กทม. คนใหม่

ก่อนจะถึงกำหนดวันเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในช่วงประมาณเดือนมีนาคม 2556 ผู้ทรงคุณวุฒิกรุงเทพมหานคร เสนอว่า คนกรุงเทพมหานคร ควรเริ่มวางเงื่อนไขการตัดสินใจเลือกผู้สมัครลงรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครตั้งแต่วันนี้ ขณะที่นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ เห็นว่า ควรมีการปรับปรุงแก้ไขโครงสร้างอำนาจหน้าที่ของ กทม. เพื่อความเป็นเอกภาพและประสิทธิภาพของงานที่เน้นตอบสนองความต้องการของประชาชน

นับถอยหลังจากนี้ เหลือเวลาอีกประมาณ 4 เดือน ก็จะเข้าสู่การเปิดสนามเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ แทนคนปัจจุบันที่จะสิ้นสุดวาระในวันที่ 10 มกราคม 2556 ผู้ทรงคุณวุฒิ กรุงเทพมหานคร เปิดเผยผลการศึกษา ซึ่งพบว่า ผู้ที่ได้รับเลือกไม่สามารถทำหน้าที่บริหารเมืองได้ตามความคาดหวัง และนโยบายส่วนใหญ่ ก็เข้าข่ายทฤษฏีประชานิยม ที่หวังสร้างความนิยม มากกว่าสร้างเมือง สร้างคุณภาพชีวิตของประชาชน

<"">
<"">

 

ด้วยเหตุผลนี้ จึงกลายเป็นคำถามถึงปัจจัยการเลือกผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่คน กทม. ควรส่งสัญญาณให้ชัดว่า ต้องการผู้นำเมืองหลวงแบบไหน โดยเฉพาะคุณสมบัติและภารกิจหลัก

"คุณสมบัติผู้ว่า กทม. อันดับแรกคือต้องมีความรู้ความสามารถ ผู้ที่สมัครเป็นผู้ว่า กทม. ต้องแสดงให้เห็นว่า คุณมีความรู้ความสามารถ และจะเข้าไปจัดการเรื่องคอร์รัปชั่น ปรับปรุงคุณภาพชีวิต ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ และต้องมีความรู้ความสามารถที่จะปรับโครงสร้าง กทม." รศ.วันชัย มีชาติ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

<"">
<"">

 

ไม่เพียงตัวบุคคลและตัวนโยบาย ที่เป็นปัจจัยการสนับสนุนการบริหารจัดการกรุงเทพมหานครเท่านั้น แต่โครงสร้างและอำนาจหน้าที่ยังเป็นอีกเงื่อนไขสำคัญ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ชี้แจงว่า ควรผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อเอกภาพ และประสิทธิภาพของงาน รวมทั้ง การสนองความต้องการของประชาชน

"ต้องคิดในเชิงโครงสร้างใหญ่ ซึ่งทำไม่ง่าย แต่ต้องผลักดัน ผู้ว่า กทม. มาจากคนเลือกเป็นล้าน ถ้าเสนอเป็นนโยบายไว้ว่า เรื่องนี้ คน กทม. อยากได้ไหม แล้วถ้าได้ตำแหน่ง ก็ผลักดันเรื่องนี้เพื่อต่อรองกับ มหาดไทย นี่คือสิ่งที่ กทม. อยากเห็น และงานแบบนี้เป็นงานที่ต้องใช้ระยะเวลายาว และเหนื่อย แต่ผมเชื่อว่าเราสามารถทำได้" นายวงษ์ภูมิ วนาสิน ผู้ทรงคุณวุฒิ กทม. กล่าว

ด้วยเหตุที่กทม. มีสถานะเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ แม้จะเป็นนิติบุคคล และมีความเป็นอิสระ แต่การบังคับบัญชา ยังขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย ที่มีรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง เป็นบุคลากรของรัฐบาล ด้วยระบบ จึงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า การเมืองการปกครองย่อมถูกผูกโยงกับ ตัวบุคคล นโยบาย และโครงสร้าง

<"">

 

หากจะสะท้อนผ่าน กทม. จะเห็นว่า ผู้นำใน กทม.หากสังกัดพรรคการเมืองเดียวกับพรรคแกนนำรัฐบาล อาจถูกตั้งข้อสังเกตว่า เอื้อประโยชน์ต่อกัน แต่ถ้าต้นสังกัดคนละขั้ว ก็อาจถูกข้อครหาเรื่องความเห็นต่าง และบทเรียนในอดีตย่อมเป็นประสบการณ์ให้ต้องกำหนดเงื่อนไข ก่อนตัดสินใจเลือกผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ในครั้งต่อไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง