60 ปีชาร์ตเพลงอังกฤษกับการสะท้อนความเป็นจริงวงการดนตรี

Logo Thai PBS
60 ปีชาร์ตเพลงอังกฤษกับการสะท้อนความเป็นจริงวงการดนตรี

วันนี้ (15 พ.ย.) เมื่อ 60 ปีที่แล้ว ประเทศอังกฤษมีการจัดทำความนิยมบทเพลงในประเทศอย่าง UK Singles Chart ที่ใช้วัดระดับความสำเร็จของศิลปินมายาวนาน แต่ปัจจุบันที่วิธีการเข้าถึงบทเพลงมีความหลากหลายมากขึ้น ทำให้ความสำเร็จบนชาร์ตไม่สะท้อนความเป็นจริงของวงการเพลงมากขึ้นเรื่อย ๆ

ดนตรีที่สนุกสนานและเอ็มวีที่ขบขันในเพลง Candy ผลงานล่าสุดของ ร็อบบี วิลเลียมส์ ส่งให้เป็นผลงานขึ้นชาร์ตอันดับหนึ่งของอังกฤษครั้งแรกในรอบ 8 ปี หลังความล้มเหลวบนเส้นทางศิลปินเดี่ยวมาหลายปี การกลับมาครองแชมป์ชาร์ต เป็นสิ่งรับประกันความนิยม และแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของชาร์ตเพลงที่ใช้เป็นเครื่องมือวัดความสำเร็จของ ศิลปินมากว่า 60 ปี

UK Singles Chart เผยแพร่ครั้งแรกในวันที่ 14 พฤศจิกายน ปี 1952 โดย เพอร์ซี ดิ๊กกินส์ ผู้ก่อตั้งนิตยสารดนตรี NME ได้โทรศัพท์ไปถามยอดจำหน่ายของร้านแผ่นเสียง 20 แห่งในอังกฤษ โดย Here in my Heart เพลงบัลลาดของนักร้องอเมริกัน อัล มาติโน ครองอันดับหนึ่งในครั้งแรก

ความนิยมของชาร์ตทำให้นิตยสารหลายฉบับหันมารวบรวมชาร์ตเพลงของตนเอง จนในปี 1969 จึงได้ก่อตั้งบริษัท Official UK Charts Company เพื่อจัดทำชาร์ตเพลงอังกฤษอย่างเป็นทางการ โดยเปลี่ยนจากการแจ้งยอดขายทางไปรษณีย์มาเป็นระบบคอมพิวเตอร์โดยอ้างอิง จากร้านแผ่นเสียงทั่วอังกฤษกว่า 6,500 แห่ง จนเป็นที่มาของรายการวิทยุ Pick Of The Pops และรายการโทรทัศน์ Top of the Pops ที่เผยแพร่ผลงานเพลงดังบนชาร์ต ซึ่งแต่ละสัปดาห์จะมีชาวอังกฤษติดตามหน้าจอโทรทัศน์กว่า 15 ล้านคน

การครองชาร์ตของเพลง Run โดยนักร้องสาว ลีโอน่า ลูอิส เมื่อปี 2007 ถือเป็นครั้งแรกที่เพลงสามารถขึ้นอันดับหนึ่งโดยไม่มีการจำหน่ายแผ่นเสียง หรือซีดี แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของรสนิยมการฟังเพลงด้วยการดาวน์โหลดเป็นหลัก เมื่ออำนาจบนชาร์ตเพลงไม่ได้อยู่ในมือค่ายเพลงแบบผูกขาดอีกต่อไป บ่อยครั้งที่เพลงเก่ากลับทำอันดับได้ดีบนชาร์ตเพราะการดาวน์โหลดของแฟนเพลง เช่นการกลับคืนสู่ชาร์ตอย่างล้นหลามของเพลงโดย ไมเคิล แจ็คสัน หรือ เอมี ไวน์เฮาส์ หลังแฟนเพลงร่วมกันดาวน์โหลดในสัปดาห์ที่ทั้ง 2 จากไปอย่างกะทันหัน

ขณะที่พฤติกรรมฟังเพลงเปลี่ยนแปลงทุกขณะ ผลสำรวจในปัจจุบันพบว่าวัยรุ่นหันมาฟังเพลงจากระบบสตรีมมิ่งหรือยูทูป มากกว่าจากซีดี, รายการวิทยุ หรือการดาวน์โหลดจาก iTunes ที่ชาร์ตใช้อ้างอิง ทำให้ความสำเร็จบนชาร์ตวันนี้ไม่สะท้อนความนิยมที่แท้จริงของวงการเพลง เหมือนในอดีต


ข่าวที่เกี่ยวข้อง