"ปุระชัย"ประกาศวางตัวเป็นกลางในศึกซักฟอก

15 พ.ย. 55
13:24
111
Logo Thai PBS
"ปุระชัย"ประกาศวางตัวเป็นกลางในศึกซักฟอก

พรรคประชาธิปัตย์ ปฏิเสธข้อสังเกตกรณีถูกโดดเดี่ยวให้เป็น ฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมยืนยันที่จะเดินหน้าทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง แม้จะยอมรับว่ามีพรรคการเมืองบางพรรคไม่เข้าใจในบทบาทของฝ่ายนิติบัญญัติ ขณะที่พรรครักษ์สันติ ประกาศวางตัวเป็นฝ่ายกลาง และชี้ว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่ควรถูกใช้เป็นเวทีแก้แค้นทางการเมือง

                                  

<"">

แม้จะไม่ได้ประกาศเจตนารมณ์ทางการเมืองว่าจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล แต่พรรครักษ์สันติในสภาผู้แทนราษฎร ที่มีส.ส.หนึ่งเดียวของพรรคเท่านั้น ออกมายืนยันว่า ได้ทำหน้าที่ในฐานะตรวจสอบฝ่ายบริหารมาอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ขอเรียกตัวเองว่า "ฝ่ายค้าน" โดยอ้างอิงถึงนิยามของพรรคว่า "รักสันติ" แล้วประกาศที่จะเป็น "ฝ่ายกลาง"ในสภาผู้แทนราษฎร

ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครักษ์สันติ ชี้แจงเหตุผลที่ไม่ได้ร่วมลงชื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะไม่มีข้อมูลความผิดที่จะชี้เหตุแห่งความไม่ไว้วางใจได้ และยอมรับว่าหลักการและมุมมอง อาจแตกต่างกับฝ่ายค้าน ประกอบกับการประเมินจากประสบการณ์ในอดีตที่เคยถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจกรณีความผิดเกี่ยวกับที่ดินอัลไพน์ ทำให้เกิดข้อสังเกตว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไม่ใช่เวทีของเอาคืนหรือแก้แค้นทางการเมือง

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ยืนยันถึงบทบาทหน้าที่พรรคการเมืองฝ่ายค้าน แม้ความเป็นพรรคฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร จะไม่เป็นเอกภาพก็ตาม แต่ก็ไม่ถือเป็นอุปสรรคทั้งหมด โดยการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ ก็คาดหวังเพียงแค่ตีแผ่ข้อมูลข้อเท็จจริงต่อประชาชนเท่านั้น ไม่ได้หวังผลเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
                                     

<"">

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษรุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวปฏิเสธว่า ประชาธิปัตย์ถูกโดดเดี่ยวการเป็นฝ่ายค้าน หากแต่ตั้งข้อสังเกตในมุมกลับกันว่า พรรคการเมืองบางพรรค ที่ไม่ร่วมสถานะการเป็นฝ่ายค้าน อาจไม่เพียงมองต่างมุม แต่อาจไม่ทำหน้าที่อันควรจะเป็นด้วย

ระบบการเมืองการปกครองของไทยภายใต้ระบอบประชาธิไตยที่ยึดโยงกับกลไกรัฐสภาแบ่งหน้าที่ให้ฝ่ายนิติบัญญัติ มีบทบาทหน้าที่ 4 ประการ คือ หน้าที่การเป็นผู้แทนปวงชน,การพิจารณาตรากฎหมาย,การตรวจสอบถ่วงดุล และการแต่งตั้งถอดถอน ด้วยองค์ประกอบจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา

โดย ส.ว.มีอำนาจหลัก ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอน ขณะที่ ส.ส. มี 2 บริบทด้วยกัน คือ"เชิงบวก"หมายถึงหน้าที่ผลักดันสนับสนุนฝ่ายบริหารด้านนโยบาย ซึ่งกลายเป็นบทบาทของส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ส่วน"เชิงลบ"หมายถึงหน้าที่ของกรรมาธิการ,การตั้งกระทู้ถามและการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งปัจจุบันคือบทบาทของส.ส.พรรคฝ่ายค้าน หากแต่ทั้ง 2 บทบาทจำเป็นอย่างยิ่งว่า ส.ส.ต้องตระหนักและเข้าใจในบทบาทของตัวเองด้วย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง