"โอบามา"เยือนอาเซียนกระชับความสัมพันธ์ระดับภูมิภาค ...นัยต่อไทยที่ต้องจับตา

ต่างประเทศ
15 พ.ย. 55
13:57
65
Logo Thai PBS
"โอบามา"เยือนอาเซียนกระชับความสัมพันธ์ระดับภูมิภาค ...นัยต่อไทยที่ต้องจับตา

ภายหลังศึกเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่นายบารัค โอบามา ได้รับเลือกให้กลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกวาระหนึ่ง ประธานาธิบดีโอบามาได้มีกำหนดการเยือน 3 ชาติในอาเซียน อันได้แก่ ไทย เมียนมาร์ และกัมพูชา ในวันที่ 18-20 พฤศจิกายน 2555 กำหนดการเยือนไทย 18 พฤศจิกายน)

 การเริ่มต้นการปฏิบัติภารกิจเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการครั้งแรกนับจากเข้ารับตำแหน่งในสมัยที่สองของประธานาธิบดีโอบามา บนเวทีภูมิภาคอาเซียนแห่งนี้ ย่อมแสดงถึงนัยของนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่มุ่งมั่นขยายความสัมพันธ์กับเอเชียอย่างแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับอาเซียนที่จะทวีความสำคัญกับสหรัฐฯมากขึ้น และมีหลายประเด็นที่น่าจับตาอย่างใกล้ชิด

สหรัฐฯ เป็นคู่ค้าที่มีความสำคัญกับไทยมาช้านาน โดยในปี 2555 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกของไปยังสหรัฐฯ อาจมีมูลค่าประมาณ 23,100 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวประมาณร้อยละ 6 (สูงกว่าภาพรวมการส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5) มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นในอัตราร้อยละ 7-12 ในปี 2556 ซึ่งสหรัฐฯยังคงบทบาทการเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพดังกล่าวเริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยเป็นตลาดอันดับ 1 สัดส่วนสูงกว่าร้อยละ 20 ของการส่งออกรวมของไทยในช่วง 2 ทศวรรษก่อน กลับเหลือสัดส่วนเพียงราวร้อยละ 10 ในปัจจุบัน

ภาพดังกล่าวเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในระดับภูมิภาคอาเซียนด้วยเช่นกัน โดยส่วนแบ่งตลาดของสินค้าสหรัฐฯ ในอาเซียนลดลงจากที่เคยสูงราวร้อยละ 20 ในช่วง 2 ทศวรรษก่อน เหลือเพียงร้อยละ 7.5 ในปัจจุบัน ในขณะที่จีนทวีความสำคัญกับไทยและอาเซียนมากขึ้น

จากจุดเปลี่ยนที่สะท้อนภาพของจีนชัดเจนมากขึ้นในเวทีโลก มีส่วนทำให้กลยุทธ์การดำเนินนโยบายระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ที่มุ่งสร้างจุดยืนของสหรัฐฯ ในเวทีโลก จึงพุ่งเป้ามายังอาเซียนเพื่อยกระดับบทบาทของสหรัฐฯ ในภูมิภาคอาเซียนให้มีความสำคัญทัดเทียมจีน ทั้งในแง่เศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในด้านอื่นๆ โดยการเยี่ยมเยียนอาเซียนของประธานาธิบดีโอบามาในครั้งนี้ ชี้ชัดว่าสหรัฐฯ จะให้ความสำคัญกับอาเซียนมากขึ้นนับจากนี้

ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP (Trans-Pacific Partnership Agreement) ถือเป็นยุทธศาสตร์หลักที่รัฐบาลสหรัฐฯ ในสมัยของประธานาธิบดีโอบามาใช้เป็นแนวทางผลักดันการเจรจากรอบความตกลงการค้าเสรี เพื่อขยายโอกาสทางการค้าและสนับสนุนการสร้างงานของสหรัฐฯ โดยหนึ่งในความพยายามเร่งผลักดัน TPP ของสหรัฐฯ นั้นน่าจะมีเหตุผลมาจากความคืบหน้าอย่างชัดเจนของกรอบความตกลงการค้าเสรีอีกขั้วหนึ่ง คือ ความตกลงภูมิภาคหุ้นส่วนเศรษฐกิจ หรือ RCEP(Regional Comprehensive Economic Partnership) ที่ต่อยอดมาจากความตกลงการค้าเสรีอาเซียนกับพันธมิตรรายประเทศ 6 ประเทศหรือ ASEAN+6 ซึ่งในการประชุมอาเซียนซัมมิท 2012 นี้ คาดว่าจะมีการประกาศแนวทางการจัดตั้ง RCEP อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีเป้าหมายบรรลุข้อตกลงลดกำแพงการค้าทั่วภูมิภาคภายในปี 2558

สำหรับไทยแล้ว การรักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้นกับทั้งสหรัฐฯ และจีน ย่อมเป็นผลดีต่อเสถียรภาพการพัฒนาทางเศรษฐกิจ รวมทั้งเป็นการสร้างโอกาสให้แก่ธุรกิจของไทยในระดับที่กว้างขวาง

อย่างไรก็ตาม การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจย่อมมีมิติที่ส่งผลกระทบต่อหลายภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรอบ TPP เป็นกรอบความตกลงที่มีจุดเริ่มจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว จึงมีความเข้มข้นของการเปิดเสรีมากกว่ากรอบที่ไทยเคยเจรจาในระดับอาเซียน เช่น ภาคการบริการ ภาคการเงิน การลดการอุดหนุนภาคการเกษตร สิทธิทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น
ดังนั้น แนวทางการต่อรองเจรจาจึงต้องประเมินความพร้อมของไทยในสาขาเหล่านี้อย่างรอบคอบ รัดกุม รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมมาตรการป้องกันและรองรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น

สิ่งที่ต้องคำนึงเช่นกันคือ หากไทยเข้าเป็นสมาชิก TPP ก็จะต้องเปิดเสรีในระดับเดียวกันให้แก่สมาชิกทั้งหมดใน TPP ด้วย และเนื่องจากสมาชิกอาเซียนมีทั้งประเทศที่เป็นสมาชิก TPP แล้ว และประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิก TPP จึงอาจเกิดเงื่อนไขการเปิดเสรีที่เหลื่อมล้ำแตกต่างกันภายในกลุ่มอาเซียนด้วยกันเอง

นอกจากนี้ การที่กลุ่มการค้าเสรีในปัจจุบันมีลักษณะของการไขว้เป็นสมาชิกซ้อนกันอยู่หลายกรอบ ทั้ง AEC(ASEAN Economic Community), TPP, RCEP และอาจมีกรอบอื่นๆ อีกนั้น ประเด็นพิจารณาจึงต้องมองข้ามไปถึงกรอบที่ไทยไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกแต่มีประเทศที่เชื่อมโยงกับไทยเข้าไปเป็นสมาชิกในกรอบนั้นด้วย

ทั้งนี้เนื่องจากการแข่งขันทางธุรกิจจากประเทศภายนอกกรอบความตกลงที่มีกับไทยนั้น อาจเข้ามาโดยช่องทางผ่านประเทศในกลุ่มที่ไทยร่วมเป็นสมาชิกความตกลงการค้าเสรีอยู่ด้วยแล้ว เช่น ธุรกิจบริการที่ไม่ใช่สัญชาติอาเซียนแต่เป็นสมาชิก TPP หากเข้ามาตั้งบริษัทลูกจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในประเทศอาเซียนที่เป็นสมาชิก TPP แล้วนั้น บริษัทลูกของต่างชาติรายนั้นจะสามารถเข้ามาลงทุนในประเทศไทยภายใต้เงื่อนไขความตกลงในกรอบ AEC ได้หรือไม่ เป็นต้น

ประเด็นดังกล่าวเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเจรจาควรต้องคำนึงถึง และอาจต้องหยิบยกเข้าสู่การหารือในเวทีการเจรจากับสมาชิกภาคีเพื่อป้องกันช่องโหว่ต่างๆ ที่อาจนำไปสู่ผลกระทบต่อธุรกิจภายในประเทศได้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง