ผู้บริโภคใน จ.ลพบุรี เสียชีวิตจากรับประทานอาหารเสริมอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง

สังคม
16 พ.ย. 55
02:10
17,092
Logo Thai PBS
ผู้บริโภคใน จ.ลพบุรี เสียชีวิตจากรับประทานอาหารเสริมอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง

การขยายตัวอย่างก้าวกระโดดของทีวีดาวเทียม สถานีวิทยุชุมชน ที่มีมากกว่า 7,700 แห่งทั่วประเทศ นอกจากผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์จากเนื้อหาที่หลากหลายขึ้น แต่อีกทางหนึ่งข้อมูลที่ขาดการควบคุมเหล่านี้ก็ก่อให้เกิดผลเสียได้เช่นเดียวกัน เรื่องหนึ่งที่พูดถึงกันบ่อยก็คือการโฆษณายา และผลิตภัณฑ์อาหารเสริมอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง มีผู้บริโภคตกเป็นเหยื่อหลายราย ล่าสุดก็เกิดกรณีผู้ป่วยโรคเบาหวานดูโฆษณาน้ำเอนไซม์ชนิดหนึ่งทางทีวีดาวเทียม หลงเชื่อซื้อมารับประทาน แต่รับประทานไปได้เพียง 2 เดือน อาการกลับทรุดลง และเสียชีวิตในที่สุด

กรณีนี้เกิดขึ้นกับนางลูกอินทร์ นาคสุข อายุ 60 ปี ชาวตำบลยางราก อำเภอโคกเจริญ จังหวัดลพบุรี ป่วยเป็นโรคเบาหวาน แต่หลงเชื่อโฆษณาอาหารเสริมประเภทน้ำดื่มเอนไซม์ยี่ห้อหนึ่ง ที่ดูจากทีวีดาวเทียม ช่วงแรกอ้างว่าอาการดี แต่รับประทานได้ 2 เดือน อาการกลับทรุด และเสียชีวิต สร้างความตื่นตกใจให้กับคนในหมู่บ้าน

มีข้อมูลจากแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) ว่าปัจจุบันมูลค่าการโฆษณายา และอาหารเสริมมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ปี 2549-2552 พบว่า มีมูลค่าสูงถึง 17,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งโฆษณาส่วนใหญ่เกินจริง เพราะพบว่าจะต้องมีคนที่เคยซื้อใช้ บ่นว่าไม่เห็นผลอย่างน้อย 20 เปอร์เซ็นต์

ภก.หญิงนิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา ระบุว่า ตลาดโฆษณาอาหารเสริมเปลี่ยนไป จากเดิมตลาดใหญ่คือประเภทควบคุมน้ำหนัก ลดความอ้วน และบำรุงร่างกาย แต่ปัจจุบันกลายเป็นอาหารเสริมที่อ้างสรรพคุณรักษาโรคได้ โดยเฉพาะที่นิยมมากคือโรคมะเร็ง และเบาหวาน

อย่างกรณีที่มีผู้เสียชีวิตที่จังหวัดลพบุรีตรวจสอบแล้วพบว่าหลงเชื่อโฆษณาน้ำเอนไซน์ว่าไม่ให้รับประทานปนกับยาตัวอื่น เพื่อไม่ให้ยาตีกัน และจะทำให้เห็นผลเร็วขึ้น ผู้ป่วยเลยหยุดยาเบาหวานที่แพทย์สั่งให้ทั้งหมด จนทำให้อาการกำเริบขึ้นมา จนเสียชีวิต

ปัญหาสำคัญคือพระราชบัญญัติยาปี 2510 ที่บังคับใช้อยู่ในขณะนี้ยังคุ้มครองผู้บริโภคจากโฆษณายา และอาหารเสริมได้ไม่ครอบคลุม และโทษเบา ส่วนใหญ่จะถูกปรับรายละ 5000 บาทต่อครั้งเท่านั้น ทำให้ผู้จำหน่ายอาหารเสริมบางรายยอมเสียค่าปรับ เพราะหักลบแล้วยังคุ้มกับการจำหน่าย

ขณะนี้ กพย.ร่วมกับ อย. และ กสทช. ผลักดัน พรบ.ยาฉบับประชาชนที่จะเพิ่มการคุ้มครองผู้บริโภคจากการโฆษณายา และอาหารเสริมมากขึ้น แต่ระหว่างที่กฎหมายยังไม่คลอด ผู้บริโภคมีช่องทางร้องเรียน หรือขอคำปรึกษาเกี่ยวกับอาหารเสริมและยาชนิดต่างๆ ได้ ทั้งสายด่วน อย. 1556 กสทช. 1200 และสายด่วน สคบ.1166 หรือหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง