“แม่ปะ”กับการจัดการชนเผ่า รูปธรรมในการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน

16 พ.ย. 55
08:02
230
Logo Thai PBS
“แม่ปะ”กับการจัดการชนเผ่า   รูปธรรมในการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน

 อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก พื้นที่สำคัญติดแนวชายแดนไทย-พม่า ซึ่งมีการข้ามไปมาของผู้คนระหว่างสองประเทศตลอดเวลา “ตำบลแม่ปะ”ซึ่งตั้งอยู่ติดกับตัวอำเภอแม่สอด ก็มีพื้นที่บางส่วนที่ติดกับแนวชายแดน การเคลื่อนย้ายของผู้คนจากฝั่งพม่ามายังฝั่งไทยมีปริมาณมาก จึงทำให้ตำบลแม่ปะซึ่งมีประชากรประมาณหนึ่งหมื่นคน แต่กลับมีแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนอยู่ถึงสองหมื่นคน และประชากรแฝงอยู่เป็นจำนวนกว่าแสนคน ไม่นับรวมในอนาคตการหลั่งไหลของแรงงานเมื่อเข้าสู่การเปิดเสรีการค้าอาเซียน

การมีแรงงานต่างด้าวอยู่เป็นจำนวนมาก แม้ว่าจะทำให้เศรษฐกิจในภาพรวมของตำบลเจริญเติบโต แต่ปัญหาต่างๆ ก็ตามมามากมาย ทั้งสาธารณูปโภคพื้นฐานไฟฟ้า น้ำประปา การให้บริการด้านสุขภาพ ตลอดจนคดีทะเลาะวิวาท ลักขโมย

“ตำบลแม่ปะมีแรงงานต่างด้าวอยู่มาก โดยเฉพาะในหมู่ 2 มีอยู่มากที่สุด เนื่องจากมีโรงงานตั้งอยู่ในพื้นที่ถึง 11 แห่ง ชนเผ่าที่อยู่ในพื้นที่มีทั้งกะเหรี่ยง พม่า มอญ ยะไข่ ตองสู ซึ่งเป็นทั้งแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมและแรงงานในการทำไร่ ทำการเกษตร จึงต้องมีชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หรือ ชรบ.คอยลาดตระเวน และมีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เป็นชาวกะเหรี่ยง คอยช่วยสื่อสารและไกล่เกลี่ยเวลาเกิดปัญหา” สมเดช ต๊ะทองคำ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 เริ่มต้นอธิบาย

ผู้ใหญ่สมเดช เล่าว่า แรงงานต่างด้าวเข้ามาอยู่ในพื้นที่เป็นจำนวนมากตั้งแต่ปี 2547-2548 เนื่องจากนโยบายด้านการค้า เกิดปัญหาสังคมมากมาย ต่อมาจึงได้มีการพูดคุยในท้องที่เพื่อหาวิธีการจัดการในการอยู่ร่วมกัน โดยเบื้องต้น ได้มีการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ โดยประสานกับทางจังหวัด เปิดให้แรงงานต่างด้าวมาลงทะเบียนปีละหนึ่งครั้ง หากพ้นระยะเวลาดังกล่าว ก็จะถือเป็นแรงงานผิดกฎหมาย รวมทั้งมีการประสานกับเจ้าของกิจการโรงงานหรือเจ้าของพื้นที่ทำการเกษตร ให้มีการรายงานจำนวนและรายชื่อของแรงงานต่างด้าวในแต่ละปี

“คือเรารู้ว่ากฎหมู่บ้านคือกฎในการอยู่ร่วมกัน อลุ่มอล่วยกันได้ แต่กฎหมายเป็นกฎของบ้านเมือง ต้องปฏิบัติตาม หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ในพื้นที่ของเรามีเรื่องที่ต้องคำนึงถึงมากกว่านั้น อย่างทุกวันนี้เรามีกฎบางอย่างที่ทุกคนรับรู้ร่วมกัน คือแรงงานต่างด้าวจะมีสิทธิ์ออกนอกเคหะสถานได้ไม่เกินสามทุ่ม ถ้าเกินสามทุ่มชุด ชรบ.จะมีเรียกตรวจ เพื่อป้องกันเหตุ แต่เราก็ผ่อนปรนสำหรับบางรายที่มีเหตุจำเป็น เช่น บางคนเลิกงานค่ำ ต้องทำโอที นอกจากนี้เวลาเกิดเหตุเช่น กินเหล้าเมาแล้วทะเลาะวิวาท หรือผัวเมียทะเลาะกัน ทางเราก็จะเอาคู่กรณีมาไกล่เกลี่ย แล้วลงบันทึกไว้

แต่หลายๆ กรณี เราอาจจะไม่สามารถใช้กฎหมายบังคับเคร่งครัดได้ เพราะผู้กระทำผิดสามารถหนีข้ามไปฝั่งนู้นได้ แล้วเราก็ไม่รู้ว่าเขาคิดอะไร เราต้องใช้วิธีเจรจาก่อน เคยมีกรณีผู้ค้ายาเสพติดข้ามมาอยู่ในพื้นที่ เราก็ไปคุยกับเขาดีๆ ว่าให้เขาออกไปเถอะ เขาก็ยอมไป คือถ้าเกิดเรื่องขัดแย้งขึ้นมามันก็จะมีปัญหาตามมามากมาย นอกจากนี้ หลายๆ ครั้งที่เป็นกรณีผิดกฎหมาย มันก็มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เราเองก็ทราบแต่ไม่สามารถทำอะไรได้”

อย่างไรก็ตามผู้ใหญ่สมเดช ยืนยันว่า แม้จะมีปัญหาหลายอย่าง แต่ชุมชนได้ประโยชน์จากแรงงานราคาถูกขณะที่แรงงานก็ได้ค่าตอบแทน ถือเป็นการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ดังนั้นต้องพยายามในการจัดระเบียบการอยู่ร่วมกันให้ได้

ด้าน สมคิด ตุ๊มะปุ๊ด ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 กล่าวว่า ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านหรือ ชรบ.ได้มีการจัดตั้งขึ้นทุกหมู่บ้านในพื้นที่อำเภอแม่สอดมาตั้งแต่ปี 2543 โดยในส่วนของหมู่ที่ 3 เอง ปัจจุบันนี้ก็มี ชรบ.อยู่ 30 คน โดยเริ่มต้นได้รับงบประมาณสนับสนุนจากทาง อบต.แม่ปะ มา 30,000 บาท จึงนำมาจัดซื้อเครื่องมือในการทำงานรวมทั้งตัดชุดเครื่องแบบ ชรบ.

“ที่ผ่านมา ในหมู่ 3 จะมีการจัดเก็บค่าสวัสดิการหลังคาเรือนละ 20 บาทต่อเดือน เพื่อนำมาเป็นสวัสดิการสำหรับการทำงานของ ชรบ.เช่น ค่าน้ำมันรถ ค่าสวัสดิการอุบัติเหตุ ซึ่งนอกจากนี้ ชรบ.ก็ไม่เคยได้รับค่าตอบแทนใดๆ ทุกคนมาด้วยจิตอาสา ตอนนี้ เราจะทำงานโดยจัดเวรชุดละ 7 คน ผลัดกันดูแลทุกวัน แต่เนื่องจากพื้นที่ในหมู่ 3 มีโรงงานอยู่เพียงแค่ 1 แห่งและมีแรงงานต่างด้าวรวมทั้งชนเผ่าอยู่แค่ประมาณ 200 คน จึงไม่ค่อยมีเหตุเท่าไร ทางเราก็มีการจัดการเหมือนกับหมู่อื่นๆ คือมีการทำบัตรประจำตัวแรงงานต่างด้าว มีการขึ้นทะเบียนประจำปี ซึ่งแรงงานต่างด้าวและชนเผ่าส่วนใหญ่ก็ให้ความร่วมมือในกิจกรรมของหมู่บ้านเป็นอย่างดี ในอนาคต เราก็กำลังคุยกันว่า จะงดการจัดเก็บสวัสดิการหลังคาเรือนละ 20 บาท เพราะไม่อยากรบกวนชาวบ้าน แต่จะหาการสนับสนุนจากที่อื่นแทน”

แม้ว่า มีพื้นที่ขนาดใหญ่ มีความหลากหลายของผู้อยู่อาศัยที่ต้องจัดการดูแล ทั้งยังเต็มไปด้วยมิติสังคมที่ซับซ้อนกว่าชุมชนอื่นๆ แต่วันนี้ ตำบลแม่ปะ ก็ได้ก้าวขึ้นมาเป็นตำบลสุขภาวะ เป็นศูนย์เรียนรู้ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ซึ่งหมายถึงการเป็นต้นแบบในการจัดการที่ชุมชนอื่นๆ จะได้ศึกษาเพื่อนำไปพัฒนา

ด้วยความมุ่งมั่นและร่วมใจ ชุมชนแม่ปะได้แสดงให้เห็นว่า แม้จะมีความต่างทั้งชาติพันธุ์ ภาษา และวัฒนธรรม แต่ก็สามารถแบ่งปันและอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง