ประชุมสภาธุรกิจอาเซียน-อียู ก.พาณิชย์ลุยเจาะตลาดผู้บริโภคไฮโซเขมร

เศรษฐกิจ
17 พ.ย. 55
10:33
116
Logo Thai PBS
ประชุมสภาธุรกิจอาเซียน-อียู ก.พาณิชย์ลุยเจาะตลาดผู้บริโภคไฮโซเขมร

หวังขยายตลาดสินค้าแฟชั่น เครื่องหนังเข้าพารากอนกัมพูชา จัดบิสซิเนสแมทชิ่ง หลังพบ 9 เดือนพุ่ง 87%

 นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงการเดินทางประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 21 ระหว่างวันที่ 16-20 พ.ย.นี้ ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา โดยมีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะมีการประชุมกลุ่มและทวีภาคีในหลายระดับ โดยในส่วนของกระทรวงพาณิชย์มีประชุมสภาธุรกิจอาเซียน-อียู(EABC)และการประชุมรัฐมนตรีข้าว 5 ประเทศ(ไทย+CLMV ประกอบด้วยกัมพูชา-ลาว-เมียนมาร์เวียดนาม) การประชุมผู้นำอาเซียน-สหรัฐอเมริกา เป็นต้น

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้แสวงหาลู่ทางขยายการค้าการลงทุน ซึ่งการค้าระหว่างไทยกับกัมพูชาการส่งออกในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-ก.ย.)ขยายตัวสูงถึง41% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือ มีมูลค่ากว่า2,834 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่การนำเข้าขยายตัวกว่า 33% หรือ มีมูลค่า 184 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งกัมพูชาเป็นตลาดที่มีแนวโน้มการขยายตัวสูง มีอำนาจการซื้อและนิยมสินค้าไทย ประกอบกับมีการขนส่งสะดวก มีทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์สามารถเป็นฐานการผลิตด้านการเกษตรได้ รวมถึงไม่จำกัดธุรกิจที่จะทำการค้าหรือลงทุน และรัฐบาลส่งเสริมให้มีการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งสอดรับกับไทยที่มีนโยบายให้ผู้ประกอบการไปตั้งฐานการผลิตในประเทศที่เป็นแหล่งวัตถุดิบ เช่น เสื้อผ้า สิ่งทอ เป็นต้น

กรมฯได้จัดกิจกรรมนัดหมายเจรจาการค้าให้กับผู้ประกอบการไทย 20 ราย เพื่อขยายตลาดการส่งออกและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของสินค้าไทยในกัมพูชา รวมทั้ง วางตำแหน่งสินค้าแฟชั่นของไทยที่มีแบรนด์เนมในตลาดระดับบน-กลางของกัมพูชา ณ ห้างพารากอน กรุงพนมเปญ”นายบุญทรง กล่าว

นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้ได้ เชิญสมาคมและผู้นำเข้า/ตัวแทนจำหน่ายสินค้าแฟชั่นหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องในกรุงพนมเปญเข้าร่วม มีการลงนามเอ็มโอยูระหว่างห้างพารากอนกับสมาคมฯ เพื่อหาโอกาสในการขยายช่องทางการค้าปลีกของผู้ส่งออกแฟชั่นไทยในห้างฯ การจัดมินิเอ็กซิบิชั่น เพื่อสร้างภาพลักษณ์สินค้าแฟชั่นแบรนด์เนมของไทยในการขยายตลาดสู่กลุ่มลูกค้าระดับบน-กลาง การจัดแสดงแฟชั่นโชว์ และนำคณะสำรวจ/ศึกษาตลาด ร้านค้า ห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ตลอดจนศูนย์กระจายสินค้าของประเทศกัมพูชา เพื่อให้ผู้ส่งออกได้ทราบข้อมูลตลาด รสนิยมการบริโภคและแนวโน้ม ในอนาคตรวมถึงกฎระเบียบทางการค้าที่สำคัญ และการหาโอกาสในการใช้ประโยชน์จากการร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มอาเซียน เช่น การสรรหาวัตถุดิบและแหล่งผลิตเป็นต้น

โดยโอกาสของสินค้าแฟชั่นไทยในกัมพูชาเป็นสมาชิกของอาเซียน และสมาชิกขององค์การการค้าโลก(WTO)ส่งผลให้มูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สินค้าส่งออกที่สำคัญของกัมพูชา ได้แก่ สินค้าสิ่งทอ ซึ่งกัมพูชามีความได้เปรียบในการผลิตเพื่อการส่งออก โดยมีโรงงานผลิตสินค้าสิ่งทอกว่า 200 โรงงาน มีการจ้างงานกว่า 200,000 คน และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับการยกเลิกโควตาส่งออกสินค้าสิ่งทอ รัฐบาลกัมพูชาได้เริ่มกระบวนการ อำนวยความสะดวกทางการค้าการลงทุน เพื่อลดต้นทุนการประกอบการให้สามารถแข่งขันได้ นอกจากนี้ยังได้ปรับปรุง มาตรฐานการจ้างงาน ให้เป็นสากลมากขึ้น โดยอนุญาตให้องค์กรด้านแรงงานนานาชาติ เข้ามามีบทบาทในการตรวจสอบกระบวนการจ้างงาน และการใช้แรงงาน

สำหรับสินค้าแฟชั่นไทยส่งออกมากัมพูชาในช่วง 9 เดือนแรก มีมูลค่ารวม 170 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 87% กลุ่มสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไปกัมพูชามีมูลค่า 80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ ลดลง5 กลุ่มสินค้าเครื่องหนังและรองเท้าไปกัมพูชามีมูลค่า 25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้น 10% สินค้าแฟชั่นนับเป็นอีกสินค้าหนึ่งที่จะมีศักยภาพในตลาดกัมพูชา เนื่องจากปัจจุบันชาวกัมพูชาที่มีฐานะดีขึ้น และเข้ามาช้อปปิ้งในเมืองไทย ทำให้แบรนด์ดังในไทย มักเป็นที่รู้จักของคนกัมพูชาส่วนใหญ่ นอกจากนี้ชาวกัมพูชายังมีการรับสื่อและข่าวสารไทย เช่น รายการโทรทัศน์และละครส่งผลให้ชาวกัมพูชาสมัยใหม่ ชื่นชอบและเอาอย่างการบริโภคจากประเทศไทย จึงมีแนวโน้มที่ดีในการขยายตลาดสินค้าแฟชั่นไทย

นางศรีรัตน์ กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการไทยในตลาดกัมพูชาขณะนี้มีปัจจัยสนับสนุนที่ดีหลายประการ เนื่องจากการขยายตัวของทางเศรษฐกิจและการเพิ่มขึ้นของพื้นที่เชิงพาณิชย์ ประกอบกับตัวเลขการขยายตัวของธุรกิจการค้าที่คาดว่าจะขยายตัว 7.1% และธุรกิจการโรงแรมและร้านอาหาร ที่คาดว่าจะขยายตัวถึง 11.2% รวมทั้ง ชาวกัมพูชามีความคุ้นเคยและให้การยอมรับสินค้าไทยมากทำให้โอกาสในการขยายตลาดการค้าและการลงทุนของอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยยังมีอีกมาก

โดยเฉพาะการแข่งขันในประเทศไทยที่ทวีความรุนแรงขึ้นมากจากการที่กลุ่มเสื้อผ้าเครื่องหนังแบรนด์อินเตอร์ มุ่งขยายแบรนด์สินค้ามายังไทยมากขึ้น เนื่องจากประเทศแถบยุโรปได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้ตลาดกัมพูชาจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่กำลังได้รับความสนใจจากนักธุรกิจแฟชั่นชาวไทยมากขึ้นทุกวัน โดยมีการแผนที่จะขยายตลาดไปด้วยการแต่งตั้งตัวแทนจำหน่าย และขณะเดียวกันก็มีแผนที่จะเข้าไปตั้งโรงงานผลิตสินค้าอีกด้วย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง