ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 21...กับหลายประเด็นที่ต้องติดตาม ?

17 พ.ย. 55
10:43
789
Logo Thai PBS
ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 21...กับหลายประเด็นที่ต้องติดตาม ?

ตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปี 2551 การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนนั้นจัดเพียงปีละครั้ง แต่ภายหลังจากกฏบัตรอาเซียนมีผลบังคับใช้ในเดือนธันวาคม 2551 ทำให้การประชุมถูกจัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง โดยให้รัฐสมาชิกที่เปนประธานอาเซียนเปนเจ้าภาพจัดการประชุม ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งแรกของปีจะให้ความสำคัญต่อการหารือประเด็นต่างๆภายในอาเซียน ในขณะที่การประชุมครั้งที่ 2 ของปีจะเป็นการหารือร่วมกันระหว่างผู้นำอาเซียนและประเทศคู่เจรจาอื่นๆ

 ปีนี้ การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 21 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง อาทิ การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit: EAS) ครั้งที่ 7 จะเริ่มเปิดฉากในช่วงต้นสัปดาห์หน้าระหว่างวันที่ 18-20 พฤศจิกายน ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา บรรดาผู้นำประเทศคู่ภาคีสำคัญต่างเข้าร่วมการประชุมอย่างพร้อมเพรียง ประกอบด้วย ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ นายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่า ของจีน ประธานาธิบดีลี มยอง-บัก ของเกาหลีใต้ นายกรัฐมนตรีโยชิฮิโกะ โนดะ ของญี่ปุ่น ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย นายกรัฐมนตรีมานโมฮัน ซิงห์ ของอินเดีย นายกรัฐมนตรีจูเลีย กิลลาร์ด ของออสเตรเลีย และนายกรัฐมนตรีจอห์น คีย์ ของนิวซีแลนด์

** สมาชิกอาเซียนหารือร่วมกันสู่ความสำเร็จของเออีซี

ระเบียบวาระการประชุมหลักในครั้งนี้ยังคงเป็นความคืบหน้าของการดำเนินการต่างๆที่มุ่งไปสู่เป้าหมายการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) โดยขณะนี้เหลือเวลาอีกเพียง 2 ปีเศษในการนับถอยหลังสู่ความเป็น AEC ทำให้ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 20 เมื่อช่วงต้นปี มีการหารือกันระหว่างผู้นำชาติสมาชิกอาเซียน ซึ่งต่างฝ่ายต่างแสดงท่าทีเป็นห่วงต่อความคืบหน้าของกระบวนการที่นำไปสู่การเปิดเสรีดังกล่าว โดยเฉพาะประเด็นมาตรการการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-tariff barriers: NTBs) ที่ยังมีกำแพงที่สูงอยู่ เนื่องจากแต่ละประเทศต้องการปกป้องอุตสาหกรรมภายในของตนเองไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรี

นอกจากนั้นจะเป็นเรื่องความท้าทายในการบูรณาการภาคบริการของอาเซียน ความคืบหน้าของความร่วมมือด้านภาษีศุลกากร การเงินพลังงาน และภาคเกษตรกรรม แผนแม่บทความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (Master Plan on ASEAN Connectivity) รวมทั้งประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน โดยผู้นำชาติสมาชิกอาเซียนจะรับรองปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในการประชุมครั้งนี้ นับเป็นความสำเร็จของอาเซียนในการร่วมกันแสดงเจตนารมณ์ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

นอกจากนี้ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียนคนปัจจุบันจะครบวาระการดำรงตำแหน่งสิ้นปีนี้ จึงต้องมีการแต่งตั้งเลขาธิการอาเซียนคนใหม่ โดยระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่ประเทศกัมพูชาเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นายเลเลืองมินห์ (Le Luong Minh) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเวียดนาม ได้รับการสนับสนุนให้ขึ้นดำรงตำแหน่งดังกล่าวสืบต่อจากดร.สุรินทร์ระหว่างปี 2556-2563 และจะนำเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในครั้งนี้เพื่อขอความเห็นชอบ

**ไทย-พม่าใช้เวทีอาเซียน เดินหน้าโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย

ในโอกาสนี้ ไทยจะใช้เวทีการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนเพื่อหารือทวิภาคีกับผู้นำพม่าเกี่ยวกับความคืบหน้าการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งจะมีการประกาศแผนความร่วมมือรวม 6 สาขาตามคณะอนุกรรมการที่ได้จัดตั้ง ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานและการก่อสร้าง อุตสาหกรรม พลังงาน การพัฒนาชุมชน กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และการเงิน ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นที่สนใจของนานาประเทศทั่วโลก

**อาเซียน+3: ความเชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียนกับสามประเทศเอเชียตะวันออก

ASEAN+3 มุ่งเน้นส่งเสริมความร่วมมือเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกในด้านการเมืองและความมั่นคง ด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงิน ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้านสังคม และวัฒนธรรม และด้านการส่งเสริมกรอบการดำเนินงานและกลไกในการติดตามผลต่างๆ โดยแผนความร่วมมือดังกล่าวทั้ง 5 ด้านนี้ ถือเป็นการประสานความร่วมมือและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียนกับประเทศในเอเชียตะวันออกมากยิ่งขึ้น และในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่กำลังจะมาถึง คาดว่าจะมีการลงนามรับรองร่างแถลงการณ์ผู้นำว่าด้วยหุ้นส่วนความเชื่อมโยงอาเซียนบวกสามอีกด้วย

** RCEP: รวมกลุ่มเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในซีกโลกตะวันออก

อีกประเด็นหนึ่งที่นานาประเทศต่างจับตามองในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในครั้งนี้ คือ การประกาศเจรจาความตกลงภูมิภาคหุ้นส่วนเศรษฐกิจ หรือ Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) หากผลการประชุมเป็นไปอย่างที่คาดการณ์ไว้ การเจรจา RCEP จะเริ่มได้ในช่วงต้นปีหน้า และมีการวางกรอบเวลาการเจรจาว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2558 ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่อาเซียนจะก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ความตกลงดังกล่าวมิได้เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ แต่เป็นการต่อยอดจากแนวคิด ASEAN+3 และASEAN+6 จุดประสงค์เพื่อเป็นการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ขึ้น และเพื่อเพิ่มบทบาทของประเทศฝั่งตะวันออกในเวทีโลก โดยประชากรของทั้ง 16 ประเทศ (อาเซียน จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลียและ นิวซีแลนด์) รวมกันมีมากถึงเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลก หรือกว่า 3,368 ล้านคน และขนาดเศรษฐกิจ (Gross domestic product: GDP) รวมราว 21.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2555

ความคืบหน้าล่าสุดของ RCEP คือ ภายหลังจากการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนในช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ณ เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา ได้มีการหารือเบื้องต้นระหว่างผู้นำของทั้ง 16 ประเทศและเห็นชอบที่จะเสนอร่างเอกสารว่าด้วยหลักการและแนวทางการเจรจา RCEP ต่อผู้นำประเทศต่างๆในช่วงการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งนี้ โดยจะเป็นความตกลงที่ครอบคลุมในมิติที่ลึกและกว้างขึ้น อีกทั้งมีมาตรฐานที่เข้มข้นกว่าความตกลงการค้าเสรี ASEAN+1 ที่มีอยู่

หากพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งเขตการค้าเสรี RCEP แล้วจะเห็นว่ามีแนวโน้มที่จะบรรลุผลสำเร็จได้ค่อนข้างมาก อันเนื่องมาจาก RCEP เป็นเพียงการพัฒนาต่อยอดความสัมพันธ์กับประเทศคู่ภาคีของความตกลงการค้าเสรีที่มีอยู่ในปัจจุบัน (ASEAN+1 FTAs) และที่ผ่านมาประเทศสมาชิกได้มีการหารือกันในส่วนนี้มาบ้างในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ครั้งล่าสุด โดยมีมติเห็นชอบแล้วเหลือเพียงแต่เสนอต่อผู้นำประเทศในขั้นสุดท้าย

ประโยชน์ที่คาดว่าไทยจะได้รับจากการเปิดเสรีในกรอบ RCEP คือในแง่ของการเป็นยุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศของไทยเพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยเข้ากับเศรษฐกิจโลก รวมทั้งเป็นการขยายโอกาสและขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าไทยในตลาดของทั้ง 15 ประเทศซึ่งล้วนเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย

**จับตาแนวทางแก้ไขปัญหา ที่กระทบ

การรวมกลุ่มและความก้าวหน้าของอาเซียนการบูรณาการของประชาคมอาเซียนอาจเผชิญปัจจัยเสี่ยงบางอย่างที่ส่งผลต่อความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างปัญหาข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องจับตามองอย่างมากเช่นกัน ในช่วงการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ประเทศสำคัญในเอเชียตะวันออก 3 ประเทศอย่างจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ต่างไม่มีท่าทีที่จะจัดการประชุมไตรภาคีเช่นที่ผ่านมา

สาเหตุสำคัญอาจมาจากประเด็นความขัดแย้งเกี่ยวกับอาณาเขตในทะเลจีนใต้ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีปฏิญญาว่าด้วยการปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea) แต่เป็นเพียงการตกลงกันระหว่างประเทศ ไม่มีการบังคับทางนิตินัย จึงทำให้เกิดแนวคิดร่างกฎข้อปฏิบัติ (Code of Conduct) ในทะเลจีนใต้ซึ่งคาดว่าจะเป็นทางออกที่ดีของปัญหาดังกล่าว

ผลการประชุมที่คาดว่าจะออกมาในเชิงรูปธรรม ได้แก่ ร่างเอกสารจำนวน 10 ฉบับที่จะเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนและการประชุมที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการรับรองหรือลงนาม ประกอบด้วย
•ร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
•ร่างแถลงการณ์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยการรับรองปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
•ร่างแถลงการณ์ร่วมผู้นำอาเซียนว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์ทุ่นระเบิดภูมิภาคอาเซียน
•ร่างแผนปฏิบัติการปฏิญญาบาหลีว่าด้วยประชาคมอาเซียนในประชาคมโลก
•ร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียน-จีน ในโอกาสครบรอบ 10 ปี ปฏิญญาว่าด้วยการปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้
•ร่างแถลงการณ์ร่วมผู้นำอาเซียนบวกสามในโอกาสครบรอบ 15 ปี ของกรอบความร่วมมืออาเซียนบวกสาม
•ร่างแถลงการณ์ผู้นำว่าด้วยหุ้นส่วนความเชื่อมโยงอาเซียนบวกสาม
•ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมผู้นำอาเซียน-สหรัฐฯ ครั้งที่ 4
•ร่างปฏิญญาการประชุมสุดยอดอาเซียนตะวันออก ครั้งที่ 7 ว่าด้วยภาวะการดื้อยาต้านมาลาเรีย
•ร่างปฏิญญาพนมเปญว่าด้วยข้อริเริ่มการพัฒนาของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก

พัฒนาการของความร่วมมือภายในภูมิภาคอาเซียนเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก ทั้งในส่วนของความร่วมมือด้านการเมืองเพื่อสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาค อาทิ ปฏิญญาที่กำหนดให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเขตแห่งสันติภาพ เสรีภาพ และความเป็นกลาง (Zone of Peace,Freedom and Neutrality) สนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation) และสนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ส่วนของความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าการลงทุน ปัจจุบันอาเซียนมีการลดภาษีศุลกากรระหว่างกันจนเกือบเป็นร้อยละ 0 ในทุกรายการสินค้าลง ซึ่งช่วยส่งเสริมการค้าภายในภูมิภาค และทำให้ผู้ผลิตสามารถลดต้นทุนการผลิตสินค้า เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบที่ต้องนำเข้ามีราคาถูกลง อีกทั้งยังมีความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกเพื่อส่งเสริมการลงทุนทั้งภายในและภายนอกภูมิภาค เช่น การเชื่อมโยงด้านคมนาคมขนส่ง เป็นต้น รวมไปถึงความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในอาเซียน

นอกจากนั้น อาเซียนยังมีความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกที่มุ่งเน้นพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของแต่ละประเทศ อันเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน เช่น ความร่วมมือด้านแรงงาน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาธารณสุข วัฒนธรรม การศึกษา การแก้ปัญหาความยากจน การพัฒนาสตรี เด็กและเยาวชน การส่งเสริมสวัสดิการสังคม และการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ความสำเร็จของอาเซียนจากความร่วมมือกันของชาติสมาชิก สะท้อนให้เห็นจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับที่โดดเด่น โดยอัตราการขยายตัวเฉลี่ยทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอยู่ที่ราวร้อยละ 5-6 ในปี 2555

มูลค่าการค้าระหว่างกันภายในภูมิภาคอาเซียน (Intra-ASEAN Trade) ในปี 2554 อยู่ที่ประมาณ 581 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ร้อยละ 18 โดยหากพิจารณาสัดส่วนของ Intra-ASEAN Trade ต่อการค้ารวมของอาเซียน พบว่า ขนาดของการค้าภายในอาเซียนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 12 ในปีที่ก่อตั้งอาเซียน (ปี 2510) เป็นร้อยละ 19 ในปีที่ได้มีการตกลงลดอัตราภาษีนำเข้าระหว่างกัน (ปี 2536) และขยายตัวอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2554 มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 24

ส่วนการท่องเที่ยวนั้น อาเซียนได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวอาเซียน พ.ศ. 2554 – 2558 เพื่อมุ่งส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ และความเชื่อมโยงเส้นทางในภูมิภาค (ASEAN Tourism Connectivity Corridors) โดยจากสถิติของ The World Tourism Organization (UNWTO) ระบุว่าในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ อาเซียนมีการเติบโตด้านจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเฉลี่ยที่ร้อยละ 9 ซึ่งถือว่าเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตด้านการท่องเที่ยวสูงที่สุดในโลก โดยมียอดนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินในพม่าขยายตัวถึงร้อยละ 36 และประเทศไทยขยายตัวร้อยละ 8

โดย ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงโดดเด่นเรื่องการเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ โดยเม็ดเงินลงทุนส่วนใหญ่มาจากประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ สหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เป็นต้น ปัจจุบันการลงทุนจากต่างชาติมายังภูมิภาคอาเซียนมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากความพร้อมในโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับการพัฒนามากขึ้น มูลค่าการลงทุนมีการขยายตัวจาก 92,760 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2553 เป็น 116,559 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2554 หรือราวร้อยละ 25.6

ด้านมูลค่าการลงทุนสุทธิภายในอาเซียน (Intra-ASEAN FDI) เติบโตจาก 5,270 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2552 เป็น 12,279 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2553 นับว่ามีการขยายตัวสูงมาก

ท้ายที่สุดแล้ว ความร่วมมือกันของประชาคมอาเซียนและการสร้างอัตลักษณ์อาเซียนย่อมเป็นสิ่งสำคัญต่อการเดินหน้าไปสู่การเป็นภูมิภาคที่เข้มแข็งตามวัตถุประสงค์แรกเริ่มของการจัดตั้งประชาคมอาเซียน แม้ว่าอาจจะต้องเผชิญกับประเด็นท้าทาย เช่นข้อพิพาทต่างๆซึ่งเป็นปัญหายืดเยื้อมานาน

แต่หากประเทศสมาชิกต่างให้ความสำคัญกับประโยชน์ในระยะยาวจากการรวมกลุ่ม และเชื่อมั่นในความจำเป็นที่จะกระชับสายสัมพันธ์ที่มีอยู่และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในระดับภูมิภาคก็จะนำไปสู่การหารือกันอย่างจริงจังเพื่อหาทางออกให้กับปัญหาต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ยิ่งไปกว่านั้น หากจุดเริ่มของการประกาศจัดตั้ง RCEP นำไปสู่การบรรลุข้อตกลงภายในปี 2558 ได้จริง ก็จะเกิดมิติใหม่ของกลุ่มการค้าเสรีที่เชื่อมโยงประเทศที่ไม่เคยเปิดเสรีระหว่างกันมาก่อน เช่นจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย โดยมีอาเซียนเป็นแกนของความร่วมมือ ซึ่งย่อมเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจการค้าการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนรวมทั้งไทย

ขณะเดียวกัน การยกระดับการพึ่งพากันภายในภูมิภาคให้มีความเข้มแข็งก็จะเสริมสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคและลดความเสี่ยงจากความผันผวนภายนอกภูมิภาคได้ดียิ่งขึ้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง