นักวิชาการด้านธรณีวิทยา เผย ปีหน้า พม่าอาจเกิดแผ่นดินไหวอีกครั้ง

สิ่งแวดล้อม
18 พ.ย. 55
06:45
334
Logo Thai PBS
นักวิชาการด้านธรณีวิทยา เผย ปีหน้า พม่าอาจเกิดแผ่นดินไหวอีกครั้ง

งานจุฬาฯ วิชาการปีนี้ มีการพูดคุยถึงเรื่องการเรียนรู้เพื่ออยู่รอดในภาวะโลกร้อนและพิบัติภัย เนื่องจากทุกวันนี้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไปมาก ผลงานวิจัยของนักวิชาการจากคณะวิทยาศาสตร์ พบว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นส่งผลให้แนวปะการังบางส่วนในประเทศตายไปแล้วกว่าร้อยละ 90 ขณะที่สถานการณ์แผ่นดินไหวในพม่า อาจเกิดขึ้นอีกครั้งในปีหน้า

นักวิชาการด้านธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่างเป็นห่วงสถานการณ์โลกร้อนในปัจจุบันอย่างมาก จึงได้ทำงานวิจัยพิบัติภัยทางธรณีวิทยา อดีต ปัจจุบันและอนาคต ด้วยการนำสถิติย้อนหลังกว่า 60 ปีที่ผ่านมาของการเกิดแผ่นดินไหวทั่วประเทศมาวิเคราะห์ โดยเลือกเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่มีความรุนแรง จำนวน 3,000 ครั้ง จาก 2 แสนครั้งที่เคยเกิดขึ้นมาวิเคราะห์โอกาสการเกิดซ้ำ พบว่า จุดที่เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง มักจะเกิดขึ้นทุกๆ 10 ปี เช่นเดียวกับสถานการณ์แผ่นดินไหว บริเวณรอยเลื่อนสะแกงที่ประเทศพม่า ขนาด 6.8 ริกเตอร์ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ก็เป็นเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อปี 2546 ซึ่งในครั้งนั้นมีความรุนแรงมากถึง 7.2 ริกเตอร์

รศ.มนตรี ชูวงษ์ หนึ่งในทีมนักวิจัย กล่าวว่า ปีหน้าจะเป็นช่วงครบรอบ 10 ปีของการเกิดแผ่นดินไหวที่รอยเลื่อนสะแกงของประเทศพม่า ซึ่งมีความน่าจะเป็นว่า ในปีหน้าอาจจะเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7 ริกเตอร์ขึ้นไป อีกครั้งที่รอยเลื่อนเดิม ซึ่งประชาชนในประเทศไทยอาจรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้

ขณะที่ รศ.สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นทุกวันว่า ความร้อนได้ส่งผลให้น้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ละลายเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันสภาพอากาศที่แปรปรวน ทำให้น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้น ซึ่งจะมีผลร้ายต่อแนวปะการัง ซึ่งขณะนี้พบว่า ปะการังบริเวณอ่าวไทยตอนบนตายไปแล้วกว่าร้อยละ 90 เพราะไม่สามารถทนต่อน้ำทะเลที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นได้ ซึ่งขณะนี้ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล กำลังศึกษาวิจัยวิธีการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับปะการัง โดยหวังให้ปะการังสามารถปรับตัวกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปได้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง