"ยิ่งลักษณ์-โอบามา" แถลงร่วมทวิภาคี-สหรัฐฯ หวังไทยตอบตกลงเข้าร่วมทีพีพี

การเมือง
18 พ.ย. 55
14:28
543
Logo Thai PBS
"ยิ่งลักษณ์-โอบามา" แถลงร่วมทวิภาคี-สหรัฐฯ หวังไทยตอบตกลงเข้าร่วมทีพีพี

นายกรัฐมนตรีของไทย และ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ร่วมแถลงภายหลังการหารือทวิภาคี โดย โอบามา หวังว่า ไทยจะเข้าร่วมข้อตกลงยุทธศาสตร์เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ TPP ขณะที่กระทรวงพาณิชย์เผยขั้นตอนหากไทยจะเข้าร่วมข้อตกลงเป็นสมาชิก ทีพีพี ต้องผ่านสภาฯ

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาได้ร่วมแถลงข่าวภายหลังการหารือทวิภาคี โดยน.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวถึงความเป็นพันธมิตรที่มีมาอย่างยาวนานระหว่างไทย และ สหรัฐฯ ความสัมพันธ์ทางการทูต รวมถึงความร่วมมือระดับภูมิภาค และ ระดับโลกที่ทั้ง 2 ประเทศมีความสนใจร่วมกัน

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวอีกว่า หลังจากที่ได้หารือกับประธานาธิบดีโอบามาจะทำให้มีการกระชับความสัมพันธ์และพัฒนาในหลายมิติ ทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจ การค้า และ การลงทุน พร้อมคาดหวังว่า ไทยจะเข้าร่วมข้อตกลงยุทธศาสตร์เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (TPP)

ขณะที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา กล่าวชื่นชมไทยที่จะก้าวสู่การเป็นประชาธิปไตย และ มีการพัฒนาในเรื่องของประชาธิปไตยมาอย่างยาวนาน พร้อมระบุว่า เอเชียเป็นทวีปแรกที่ตนเองเดินทางเยือนภายหลังได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่ 2 ซึ่งให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชีย เพราะถือว่าเป็นภูมิภาคที่มีเศรษฐกิจที่เติบโต

ประธานาธิบดีโอบามา กล่าวด้วยว่า มีความยินดีที่ได้เดินทางมาเยือนไทยในครั้งนี้เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัน และ รู้สึกชื่นชอบกับอาหารไทยที่ได้ลิ้มรสในครั้งนี้ด้วย

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ออกเอกสารข่าวชี้แจงกรณีการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (TPP) กับสหรัฐอเมริกา โดยมีรายละเอียดว่า

1. จากการที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ (นายบารัก โอบามา) จะมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2555 นี้ และมีกำหนดการหารือทวิภาคีร่วมกับรัฐบาลไทย ซึ่งหลังจากการหารือดังกล่าว ผู้นำทั้งสองจะมีการแถลงข่าวร่วมกัน

2. สาระที่รัฐบาลไทยจะแถลงร่วมในกรณีที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเจรจาข้อผูกพันทางการค้า TPP นั้น จะเป็นเพียงการแสดงเจตนารมณ์ที่จะเข้าร่วมเจรจา TPP ซึ่งจะต้องมีกระบวนการภายในประเทศ เพื่อศึกษาผลกระทบในทุกมิติกับกลุ่มผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดอย่างจริงจัง

3. ขั้นตอนก่อนการเสนอตามมาตรา 190 ต้องใช้เวลาในการเจรจา ซึ่งมีขั้นตอนรายละเอียด สรุปได้ดังนี้

ก่อนเสนอตามมาตรา 190
3.1 ศึกษาผลประโยชน์และผลกระทบในการเข้าร่วมเจรจา
3.2 รับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน
3.3 จัดทำร่างกรอบการเจรจาความตกลงเพื่อเสนอ ครม. และรัฐสภาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญปี 2550

หลังผ่านมาตรา 190
3.4 หลังจากรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ไทยต้องแจ้งความจำนงการเช้าร่วมเจรจา และรอฉันทามติจากประเทศสมาชิก TPP 11 ประเทศ
3.5 จึงจะมีการประกาศการเข้าร่วมการเจรจาอย่างเป็นทางการ หลังจากนั้น ครม. จะแต่งตั้งหัวหน้าคณะเจรจา
3.6 กำหนดกลยุทธ์ท่าทีในการเจรจา และการเตรียมความพร้อมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง สรุปการเจรจาและประกาศใช้ความตกลง จากนั้นจึงนำผลการเจรจาทั้งหมดเสนอ ครม.และรัฐสภาให้ความเห็นชอบก่อนลงนามและมีผลบังคับใช้

4. กระทรวงพาณิชย์ ยืนยันว่า การดำเนินการใดๆ ต่อกรณีนี้จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญอย่างครบถ้วน และจะดำเนินการอย่างละเอียดรอบคอบเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนและเป็น ประโยชน์สูงสุด ก่อนที่จะสรุปผลเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี


ข่าวที่เกี่ยวข้อง