"โบาม่า"เยือนไทยแถลง 4 ประเด็นด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ

เศรษฐกิจ
19 พ.ย. 55
03:57
55
Logo Thai PBS
  "โบาม่า"เยือนไทยแถลง 4 ประเด็นด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ

เช้าวันนี้ (19 พ.ย.) นายบารัก โอบาม่า ประธานาธิบดีสหรัฐ จะออกเดินทางไปยังสหภาพเมียนมาร์ หลังเสร็จสิ้นการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการประธานาธิบดีสหรัฐ เยือนประเทศไทยเป็นประเทศแรกหลังชนะการเลือกตั้ง ซึ่งการเดินทางมายังประเทศไทย เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดของเจ้าหน้าที่สหรัฐและเจ้าหน้าที่ไทย

มาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดเริ่มต้นกันตั้งแต่ท่าอากาศยานดอนเมืองเครื่องบินแอร์ฟอร์ซวันแตะพื้นรันเวย์ โดยมี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ให้การต้อนรับ

ประธานาธิบดีสหรัฐพร้อมคณะ ได้เดินทางไปเยี่ยมชมวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร โดยนายโอบามาเดินชมความงามของวัดโพธิ์ โดยมีพระสุธีธรรมานุวัฒน์ หรือเจ้าคุณเทียบ สิริญาโณ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และผู้ช่วยเจ้าอาวาส เป็นผู้นำเยี่ยม และบรรยายในแต่ละจุด

หลังเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คณะของผู้นำสหรัฐ เดินทางมายังทำเนียบรัฐบาล เพื่อหารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรี โดยใช้เวลาเกือบ 1 ชั่วโมงในการพูดคุยกัน ก่อนที่ทั้งคู่จะแถลงข่าวถึงความร่วมมือในด้านต่างๆ และเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนซักถาม

โดยนายโอบามาแถลงถึง 4 ประเด็นหลัก คือ เรื่องความร่วมมือด้านความมั่นคง เรื่องการค้าและการลงทุนที่นอกจากการเตรียมยกระดับการทำธุรกิจไปสู่ระดับภูมิภาคแล้ว คือการทำทีพีพี ประเด็นคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสำหรับประชาชนทั่งสองประเทศ และ การปฏิรูประดับภูมิภาค

นายโอบามาตอบคำถามเกี่ยวกับสาเหตุที่เดินทางมาประเทศไทย และความสนใจพิเศษเกี่ยวภับภารกิจเยือนอาเซียน 3 ประเทศ โดยระบุว่า เป็นการขยายโอกาสให้ประเทศในภูมิภาคอาเซียนและสหรัฐมีความความร่วมมือระหว่างกัน ทั้งด้านการค้าการลงทุน และการพัฒนาด้านต่างๆ โดยการเดินทางมาประเทศไทย ไม่ใช่เหตุบังเอิญ เนื่องจากไทยนับเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์ที่เก่าแก่และแน่นแฟ้นที่สุดในภูมิภาคนี้

ส่วนนายกรัฐมนตรีของไทยหลังยืนยันเจตนารมณ์เกี่ยวกับการเจรจาความตกลงทีพีพีแล้ว ก็ได้ชี้แจงรายละเอียดต่อสื่อมวลชน ว่า ความร่วมมือการเจรจาทีพีพี จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

เมื่อวานนี้ (18 พ.ย.)กระทรวงพาณิชย์ออกเอกสารชี้แจงยืนยันการเข้าร่วมทีพีพี เป็นแค่แสดงเจตนารมณ์ เพราะยังต้องผ่านกระบวนการทางกฎหมายในประเทศไทยก่อนจะมีการเจรจา โดยเฉพาะ ขั้นตอนก่อนการเสนอตามมาตรา 190 ซึ่งมีรายละเอียด เพื่อศึกษาผลกระทบในทุกมิติกับกลุ่มผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดอย่างจริงจัง ก่อนจัดทำร่างกรอบการเจรจาความตกลง เพื่อเสนอ ครม. และรัฐสภาให้ความเห็นชอบ

ซึ่งหลังจากนั้นแล้วยังต้องแจ้งความจำนงการเช้าร่วมเจรจาและรอฉันทามติจากประเทศสมาชิก TPP 11 ประเทศ จึงจะมีการประกาศการเข้าร่วมการเจรจาอย่างเป็นทางการได้ นอกจากนั้นยังต้องมีหัวหน้าคณะเจรจา เพื่อกำหนดกลยุทธ์ท่าทีในการเจรจา ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ยืนยันว่า การดำเนินการใดๆ จะดำเนินการอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนและเป็น ประโยชน์สูงสุด ก่อนที่จะสรุปผลเสนอต่อคณะรัฐมนตรี


ข่าวที่เกี่ยวข้อง