เอกชนเรียกร้องรัฐฯ เยียวยาผลกระทบค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท

เศรษฐกิจ
19 พ.ย. 55
13:56
95
Logo Thai PBS
เอกชนเรียกร้องรัฐฯ เยียวยาผลกระทบค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท

นักวิชาการ ระบุว่า การปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท ทั่วประเทศในปีหน้า(55) จะทำให้แรงงานเคลื่อนย้ายออกจากเมืองไปยังจังหวัดชายแดนมากขึ้น ขณะที่ภาคเอกชนเร่งให้รัฐบาลตั้งคณะทำงานศึกษาผลกระทบและมีมาตรการเยียวยาภาคเอกชน

<"">

<"">

 

คณะทำงานของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. หารือร่วมกัน เพื่อติดตามความคืบหน้าหลังเสนอให้รัฐบาลตั้งคณะทำงานร่วมภาครัฐเเละเอกชน พิจารณามาตรการเยียวยาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี ที่จะได้รับผลกระทบจากนโยบายการขึ้นค่าเเรงขั้นต่ำ 300 บาท โดยต้องการให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน

นายทวีกิจ จตุเจริญคุณ รองประธานสภาอุตสาหกรรมเเห่งประเทศไทย ระบุว่า แม้กระทรวงแรงงานจะกำลังพิจารณามาตรการช่วยเหลือ 27 ประการ แต่ผู้ประกอบการเห็นว่าไม่สอดคล้องกับความต้องการ และช่วยเหลือได้ไม่ถึงร้อยละ 10

ขณะที่นายสุชาติ จันทรนาคราช กรรมการบริหารหอการค้าไทย กล่าวว่า หากยังไม่มีมาตรการเยียวยา จะทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอี ที่มีมากถึง 2.9 ล้านราย มูลค่ารวมทางเศรษฐกิจกว่า 3 ล้านล้านบาท ได้รับผลกระทบหนัก

ส่วนในงานประชุมทิศทางส่งเสริมเอสเอ็มอี รศ.กิตติ ลิ่มสกุล จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ควรมองนโยบายปรับขึ้นค่าแรงของรัฐบาลเป็นนโยบายเชิงสังคมไม่ใช่เชิงเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้เเรงงานมีกำลังซื้อมากขึ้น

พร้อมระบุว่าการปรับขึ้นค่าแรง จะดึงเเรงงาน นอกประเทศเข้ามาในไทยมากขึ้น ปัจจุบันไทยมีเเรงงานพม่าเเละชาติอื่นๆ รวมกันกว่า 2 ล้านคน แต่การปรับค่าเเรงเท่ากันทั่วประเทศ จะทำให้ปีหน้าเเรงงานภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างในเขตเมืองจะหายไปประมาณ 1 ล้านคน เพราะจะย้ายกลับไปทำงานยังจังหวัดชายเเดน ขณะที่เเรงงานพม่าบางส่วนจะเดินทางกลับประเทศ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง