"จีน" คู่ค้าสำคัญของไทย หลังเกิดวิกฤตการเงินในสหรัฐฯ

เศรษฐกิจ
21 พ.ย. 55
04:16
105
Logo Thai PBS
"จีน" คู่ค้าสำคัญของไทย หลังเกิดวิกฤตการเงินในสหรัฐฯ

วิกฤตสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกาที่ลุกลามผสมกับปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปส่งผลให้ไทยเบนเข็มมุ่งขยายการค้าการลงทุนกับอาเซียน และ เอเชีย มากขึ้น โดยเฉพาะกับจีนเพราะจำนวนประชากรกว่า 1,300 ล้านคนหมายถึงโอกาสทองทางการค้าประกอบกับ นโยบายการเปิดเสรีทางการค้าอาเซียน-จีน ช่วยเร่งสัดส่วนการนำเข้าและส่งออกสินค้าระหว่างกันมากขึ้น

 

<"">
 
<"">

ปัจจุบันไทยส่งออกไปประเทศจีนเป็นอันดับ 1 และ นำเข้าสินค้าจากจีนอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น แต่ด้วยมูลค่าสินค้าที่นำเข้าและส่งออกแตกต่างกันทำให้ไทยขาดดุลการค้าระหว่างประเทศกับจีนต่อเนื่อง นับจากการเปิดเสรีการค้าดังกล่าวเฉลี่ยปีละ 2,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ กว่า 77,000 ล้านบาทและในช่วง 6 ปี นับตั้งแต่ปี 2549 เติบโตอย่างรวดเร็วมูลค่าการลงทุนของจีนเพิ่มขึ้นถึง 56 เท่า และ กลายเป็นนักลงทุนอันดับ 4 ของไทย จากอันดับที่ 20

และเฉพาะ 6 เดือนแรกของปีนี้ บีโอไอ รายงานว่า จีนลงทุนทางตรงในไทยคิดเป็นเงินกว่า 6,000 ล้านบาท เช่นเดียวกับจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาไทยที่ขยายตัวแบบก้าวกระโดด

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน แนบแน่นมากขึ้น จากความร่วมมือระดับภูมิภาค โดยเฉพาะด้านการค้าและการเงิน เพื่อรองรับการเปิดเสรีการค้าอาเซียน + 3 ได้แก่ ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 บวก จีน เกาหลีใต้ และ ญี่ปุ่น และ อาเซียน+ 6 เพิ่มออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย

โดยความร่วมมือในระดับภูมิภาคนี้ ทำให้ อาเซียน เป็นที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์เชื่อมโยงภูมิภาค 2 ฝั่างมหาสมุทรสร้างโอกาสการเคลื่อนย้ายแรงงาน และ สินค้า สะดวกมากขึ้นอีกทั้งจำนวนประชากรที่รวมกันกว่า 3,000 ล้านคน คิดเป็นครึ่งหนึ่งของประชากรโลก คือ อำนาจการต่อรองขนาดใหญ่ที่ประเทศมหาอำนาจของโลกอย่างสหรัฐอเมริกาต้องหวนกลับมาหาไทยในฐานะประเทศศูนย์กลางยุทธศาตร์ดังกล่าว หลังไทยกับสหรัฐฯยุติการเจรจาทางการค้าอันเนื่องมาจากการปฏิวัติปี 2549

ภายหลังจากที่นายบารัค โอบาม่า ประธานาธิบดีสหรัฐ เดินทางกลับไม่นานนายเวิน เจีย เป่า นายกรัฐมนตรีของจีน ซึ่งกำลังจะพ้นวาระการดำรงตำแหน่ง ในเดือนมีนาคมปีหน้ามีกำหนดการเดินทางมาไทย ซึ่งนักวิชาการจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเรื่องผิดปกติ และ สะท้อนท่าทีความหวาดระแวงอยู่ลึก ๆ เพราะ จีน กำลังมีข้อพิพาทกรณีการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้กับฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ ซึ่งเรื่องนี้อาจกลายเป็นฉนวน สร้างรอยร้าวในอาเซียน โดยการวางตัวของประเทศไทยในฐานะประเทศเปิดและเป็นศูนย์กลางประสานภูมิภาคจึงมีนัยอย่างยิ่ง

นักวิชาการยังเรียกร้องให้รัฐบาลตระหนักถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติในระยะยาว มากกว่า การสร้างเงื่อนไขแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระยะสั้นจากความพยายามเจรจาขายข้าว ยางพารา รวมไปถึง โครงการจัดการน้ำ

นายมาณพ เสงี่ยมบุตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจต่างประเทศ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า คณะกรรมการชุดใหม่ของจีนที่จะขึ้นสู่ตำแหน่งในปีหน้าอาจมุ่งดำเนินนโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เชิงสังคม ประชากร และ กระตุ้นการบริโภคในประเทศมากขึ้น ส่วนการลงทุนต่างประเทศจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการประคองอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ร้อยละ 7-7.5 พร้อมแนะนำให้นักธุรกิจไทยปรับตัวให้สอดรับนโยบายส่งเสริมการลงทุนของจีน โดยเฉพาะด้านนวตกรรม และ ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ความผันแปรของโลกกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการเมืองในระดับภูมิภาคเร็วขึ้น การวางตัวของรัฐบาลวางนโยบายสนับสนุนคนไทยออกไปลงทุนต่างประเทศคว้าโอกาสจากความร่วมมือทางการค้าร่วมกับการวางยุทธศาสตร์ประเทศ ต่อบทบาทการสร้างสันติภาพ สานผลประโยชน์ สร้างการพัฒนาร่วมกันทั้งภูมิภาค เพื่อประโยชน์ร่วมกันอย่างแท้จริงของทุกฝ่าย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง