5 ปี กฎหมายความรุนแรงในครอบครัวยังมีอุปสรรค จำนวนผู้ถูกกระทำเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

22 พ.ย. 55
13:48
570
Logo Thai PBS
5 ปี กฎหมายความรุนแรงในครอบครัวยังมีอุปสรรค จำนวนผู้ถูกกระทำเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

5 ปีแล้ว ที่กฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว มีผลบังคับใช้ แต่พบว่าจำนวนเด็กและสตรี ยังถูกกระทำความรุนแรงจากครอบครัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาสำคัญมาจากเจ้าหน้าที่บังคับใช้ไม่เข้าใจข้อกฎหมาย พร้อมทัศนคติที่มองว่าความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว ส่งผลให้การดำเนินการช่วยเหลือเป็นไปอย่างล่าช้า

ทนายความประจำมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล แจ้งความคืบหน้าทางคดีล่าสุดให้กับหญิงวัย 29 ปีคนนี้ ที่แจ้งความเอาผิดสามีข้อหาทำร่างกายเมื่อ 7 เดือนก่อน แม้คดีจะอยู่ในขั้นการสอบสวนพยาน และตัวเธอ ได้หย่าขาดกับสามีที่มีอาชีพนักมวย แต่ปัญหาความไม่เข้าใจกันในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ รวมถึงการถูกทำร้ายร่างกายกลายเป็นเหตุผลสำคัญให้ต้องยุติชีวิตครอบครัว และยังคงกระทบต่อจิตใจมาจนถึงวันนี้

<"">
<"">

 

"พี่เคยดูคนต่อยมวยกันไหมคะ มันเป็นอย่างนั้น...ทุกอย่าง จำได้ว่าตอนท้องลูกคนแรกได้ 2 เดือน ทะเลาะกับสามี ตีกันจนบ้านพัง พอเราล้มลง เขาขึ้นคร่อมเราได้แล้วกระหน่ำชกที่หน้า ชกเสร็จแล้วเขาทำอย่างไรรู้ไหม คือมันไม่ใช่คนที่รักกันแล้ว มันไม่ใช่แล้ว ต่อยเสร็จแล้วถุยน้ำลายใส่หน้าเรา นี่ยังเป็นคนอยู่ไหม ต้องใช้คำนี้ แล้วที่สำคัญคือ เราท้องด้วย" ผู้ถูกกระทำความรุนแรงจากครอบครัว กล่าว

เธอเล่าด้วยว่า 3 ปีที่ใช้ชีวิตครอบครัวร่วมกัน 4 คนพ่อ แม่ ลูก มักจะทะเลาะกันบ่อยครั้ง และหลายๆครั้งก็กลับมาคืนดีกัน แต่ไม่กี่วันก็ทะเลาะกันอีก เป็นอย่างนี้ตลอด และเมื่อตั้งสติและทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น ก็ไม่ต้องการให้ลูกต้องเจอกับสภาพแบบนี้อีก จึงตัดสินใจขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลเพื่อเอาผิดกับสามี แต่ดูเหมือนว่ากฎหมายจะไม่เอื้อให้กับผู้ถูกกระทำ

<"">
<"">

 

"เรื่องนี้เป็นคดีที่ ถ้ามองในด้านตำรวจ เรื่องนี้เล็กมาก คือ คุณต้องใช้เวลาเป็นปีเลยหรอ ที่จะทำให้มันเสร็จ เพราะดิฉันเคยถูกกระชากกระเป๋า ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์เราจับคนร้ายเองได้ ส่งตำรวจ โอเค คนร้ายรับสารภาพก็ขึ้นศาล ติดคุก 5 ปี รับสารภาพเหลือ 2 ปีครึ่ง ซึ่งเรื่องนั้นมันไว แต่เรื่องนี้มันเห็นๆกันอยู่ แต่ใช้เวลาเป็นปีในการดำเนินการ" มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล

แม้กฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวจะใช้มาแล้ว 5 ปี แต่ก็พบว่ามีอุปสรรค ซึ่งหัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล บอกว่าทำให้ผู้ถูกกระทำไม่กล้าเปิดเผยตัว เจ้าพนักงานไม่รู้กฎหมาย และภาครัฐไม่เอาจริงเอาจังต่อมาตรการที่กฎหมายกำหนด

"กฎหมายเข้าใจว่า การคุยกันเองนั้นคุยไม่ได้ จะต้องมีทีมสหวิชาชีพ ทีมที่กฎหมายให้อำนาจไป เชิญผู้กระทำ-ผู้ถูกกระทำมาเข้าสู่กระบวนการบำบัดฟื้นฟู เพราะฉะนั้นจะให้มีการบำบัดฟื้นฟูก็ทำได้ เพื่อที่จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม มันก็ต้องมีการดำเนินตามกฎหมาย ต้องแจ้งตำรวจ แต่ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อจะนำเอาผู้กระทำไปเรือนจำ แต่มุ่งประสงค์ที่จะให้เจ้าหน้าที่นำผู้กระทำไปบำบัดฟื้นฟู" สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ

ผลการสำรวจเนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงที่จัดขึ้นทุกวันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี สะท้อนชัดเจนว่า คนส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80.8 ยังไม่รู้รายละเอียดของกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ขณะที่ร้อยละ 42.1 เห็นว่า ปัจจัยที่ทำให้ผู้ถูกกระทำไม่สามารถเข้าถึงกฎหมายได้ คือ ความรู้สึกอาย ร้อยละ 37 ไม่รู้ช่องทางดำเนินการ และมีถึงร้อยละ 16.4 ที่ไม่เชื่อว่าภาครัฐจะช่วยเหลือได้จริง จึงเรียกร้องให้ภาครัฐทำงานร่วมกัน ให้การบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงเร่งสื่อสารให้ผู้ถูกกระทำเข้าใจเจตนาของกฎหมายฉบับนี้ให้มากขึ้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง