ยุทธศาสตร์ไทย เพื่อรักษาผลประโยชน์และความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ

22 พ.ย. 55
14:26
303
Logo Thai PBS
ยุทธศาสตร์ไทย เพื่อรักษาผลประโยชน์และความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ

ผู้นำชาติมหาอำนาจ อย่างประธานาธิบดีสหรัฐฯ และ นายกรัฐมนตรีจีน เดินทางมาเยือนไทยในเวลาไล่เลี่ยกัน ซึ่งมีการวิเคราะห์กันถึงนัยยะของการมาเยือนของผู้นำทั้ง 2 ประเทศ รวมถึงการวางบทบาทของไทย เพื่อรักษาผลประโยชน์และความสัมพันธ์ ระหว่าง สหรัฐฯ จีน กับไทย ที่มีมายาวนาน

ภายหลังสงครามเย็น ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ไม่หวือหวา เพราะขาดความเห็นพ้องในประเด็นความมั่นคง อีกทั้งไม่มีศัตรูร่วมกัน สวนทางกับจีน ที่ผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจเบอร์ 2 ของโลก และเป็นคู่ค้าลำดับต้นๆ ของไทยรองจากญี่ปุ่น

จีนเริ่มแผ่อิทธิพลมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ซึ่งกำลังจะรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 และจะกลายเป็นตลาดการค้าอันดับ 3 ของเอเชีย ที่คาดว่ามูลค่าของจีดีพีจะมีถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

<"">
<"">

 

ขณะที่สหรัฐฯซึ่งกำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ และหวังให้เอเชีย โดยเฉพาะอาเซียนช่วยฉุดการค้าการจ้างงานให้ดีขึ้น สหรัฐฯ จึงพยายามรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคนี้

ไทยในฐานะพันธมิตรเก่าแก่ของสหรัฐฯ และ จีน ที่มีความสัมพันธ์มายาวนานนับร้อยปี จึงมีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์ต่างประเทศของทั้ง 2 มหาอำนาจ

<"">
<"">

 

"ประธานาธิบดีที่เข้ารับตำแหน่งในวาระที่ 2 มักจะเน้นนโยบายต่างประเทศมากขึ้น เพราะหลัง 1-2 ปีแรกของวาระที่ 2 ปธน. จะทำอะไรในประเทศไม่ค่อยได้แล้ว เพราะคนจะรู้ว่า อีกไม่นานคุณคงไม่อยู่แล้ว หลายคนจึงอยากสร้างผลงานของเขา" เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ มูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา

"จีนอยู่ในประเทศนี้ จีนต้องแสดงตัวตลอด ว่าจีนเป็นประเทศสำคัญ มีบทบาทในการทำธุรกิจกับอาเซียนอย่างเต็มที่" ณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

"ทั้ง 2 ประเทศรู้ทันกัน ตามจริงแล้วโอบาม่าไม่ต้องการมาไทย เพราะมาไทยไม่มีคุณค่าเพิ่ม เขาต้องการมาพม่า เพราะว่าพม่าเป็นเกียรติประวัติของนโยบายพรีเวตทูเอเชียของสหรัฐฯ แต่จีนเองให้ความสำคัญไทยมาตลอด จะสังเกตเห็นว่า จีนให้ความสำคัญด้านการค้า พาณิชย์มาก แต่ลึกๆแล้ว จีนต้องการใช้ไทยในเชิงยุทธศาสตร์อย่างมาก" กวี จงกิจถาวร ศูนย์ศึกษาความมั่นคงและการต่างประเทศ จุฬาฯ

การมาเยือนไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนของประธานาธิบดีบารัค โอบามา หลังได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งสมัยที่ 2 และการมาเยือนไทยเป็นประเทศสุดท้ายของ นาย เวินเจียเป่า นายกรัฐมนตรีจีนที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่งในเดือนมีนาคมปีหน้า สะท้อนให้เห็นว่า ไทยมีบทบาทสำคัญในอาเซียน แต่การสร้างผลประโยชน์และรักษาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสหรัฐฯ และ จีน ไทยต้องมีนโยบายต่างประเทศที่สร้างสมดุลและมีจุดยืนที่ชัดเจน

<"">
<"">

"จริงๆแล้วไทยไม่ได้ประสงค์จะเข้าร่วมทีพีพีเลย ประเทศไทยให้ความสำคัญกับอาร์ซีพีมากกว่า ซึ่งเป็นกรอบการเจรจาการค้าของอาเซียนเป็นหลัก และประกาศที่กรุงพนมเปญอาทิตย์นี้ แต่อย่างไรก็เกรงใจสหรัฐฯ ก็บอกโอบาม่าว่าโอเค เราจะเข้าร่วมเจรจา แต่ในใจรู้ดีอยู่แล้วว่าจะไม่เข้าร่วม กับจีนก็เหมือนกัน กับจีนเราต้องชัดเจนเลยว่าความสัมพันธ์ทางการค้านั้นสำคัญ แต่ถ้าด้านความมั่นคง เราจะต้องระมัดระวัง เพราะสหรัฐฯถือว่าความมั่งคงระหว่างไทย-สหรัฐฯละเอียดอ่อน และสำคัญ เพราะเราเป็นพันธมิตร" กวี จงกิจถาวร ศูนย์ศึกษาความมั่นคงและการต่างประเทศ จุฬาฯ

สำหรับการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีไทยกับประธานาธิบดีสหรัฐฯเมื่อวันที่ 18 พ.ย. ที่ผ่านมา ครอบคลุมหลายประเด็น แต่ที่อยู่ในความสนใจของสังคม คือ การประกาศเจตนารมย์ของไทยเข้าร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP

<"">
<"">

 

ขณะที่การหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีไทยกับนายกรัฐมนตรีจีนเมื่อวานนี้(21 พ.ย.)มีการลงนามบันทึกความตกลงร่วมกัน 4 ฉบับ หนึ่งในนั้นคือบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือการค้าข้าวสองฝ่าย แต่ไม่ระบุปริมาณและเวลาส่งมอบ ซึ่งสะท้อนว่า ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้ามีความสำคัญไม่น้อยกว่าความสัมพันธ์ทางการเมืองและความมั่นคง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง