AEC กับการปฏิรูปสาขาบริการ

23 พ.ย. 55
09:47
160
Logo Thai PBS
AEC กับการปฏิรูปสาขาบริการ

โดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

 การปฏิรูปสาขาบริการในอาเซียนมีความคืบหน้าน้อยมากหลังจากที่มีการเจรจามาเป็นเวลานาน ล่าสุดกรอบการเปิดเสรีภาคบริการตาม “พิมพ์เขียวเพื่อจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” (AEC Blueprint) ก็ยังจำกัดเฉพาะการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของชาติสมาชิกอาเซียนโดยไม่ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขกฎระเบียบในแต่ละประเทศที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจบริการ

ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ ได้ทำการศึกษาวิเคราะห์ถึงความสำคัญของภาคบริการต่อระบบเศรษฐกิจไทย และจะนำเสนอข้อเสนอแนะในการปฏิรูปสาขาบริการของประเทศไทย ทั้งในกรอบอาเซียนและการดำเนินการของประเทศไทยเอง โดยจะเน้นสาขาบริการใน 2 กลุ่มคือ บริการที่สนับสนุนภาคธุรกิจ เช่น การสื่อสาร การเงิน การขนส่ง พลังงาน และบริการที่ตลาดมีลักษณะผูกขาดหรือกึ่งผูกขาด เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของระบบเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ผลการศึกษาดังกล่าวจะนำเสนอในการสัมมนาวิชาการทีดีอาร์ไอประจำปี 2555 หัวข้อ “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน: มายาคติ ความเป็นจริง โอกาสและความท้าทาย”(ASEAN Economic Community: Myths, Reality, Potentials and Challenges) ในวันที่ 26 พฤศจิกายนนี้ ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์

ผลการศึกษาส่วนหนึ่ง ระบุว่า ภาคบริการเป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญของประเทศ เนื่องจากแรงงานที่ย้ายออกจากภาคการเกษตรมักเข้าไปสู่ตลาดแรงงานในภาคบริการ เช่น บริการก่อสร้าง บริการค้าปลีก บริการรับใช้ในบ้าน บริการดูแลผู้สูงอายุ ฯลฯ ในปี พ.ศ. 2554 การจ้างงานในภาคบริการมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ ของแรงงานทั้งหมดของประเทศเกือบ 40 ล้านคน ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นหัวจักรในการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศกลับมีการจ้างงานเพียงร้อยละ 14.5 เท่านั้น

การที่ภาคบริการเป็นแหล่งรองรับแรงงานที่มีทักษะน้อยจากภาคการเกษตรทำให้ผลิตภาพแรงงานโดยรวมต่ำ กอปรกับการที่รัฐบาลละเลยที่จะส่งเสริมการลงทุนในสาขาบริการทำให้ภาคบริการล้าหลัง ดังนั้น นโยบายที่ต้องการจะยกระดับรายได้ของแรงงานไทยนั้นจะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภาพของภาคบริการมิใช่มุ่งเน้นเพียงการส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตดังที่ผ่านมา

ในอนาคต ภาคบริการจะต้องเป็นหัวจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยแทนภาคอุตสาหกรรมซึ่งต้องเผชิญกับแรงกดดันของการแข่งขันจากประเทศที่มีค่าจ้างแรงงานต่ำกว่าที่นับวันยิ่งรุนแรงมากขึ้นทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมลดลงมาอยู่ในระดับร้อยละ 4-5 ในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา ไม่สามารถกลับไปสู่อัตราการเติบโตที่สูงเช่นเดิม

ที่ผ่านมา อัตราการขยายตัวของภาคบริการต่ำกว่าอัตราการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมมาโดยตลอด จึงอาจกล่าวได้ว่าภาคบริการเป็น “ปัจจัยถ่วง” การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากภาคบริการสร้างรายได้สูงถึงครึ่งหนึ่งของรายได้ประชาชาติและมีการจ้างงานถึงร้อยละ 47 ของแรงงานของประเทศ การยกระดับประสิทธิภาพของภาคบริการไทยโดยการเปิดรับทุนและเทคโนโลยีจากต่างประเทศในสาขาบริการที่เป็นเสาหลักของเศรษฐกิจ เช่น โทรคมนาคม และ พลังงาน รวมทั้งปฏิรูประบบการกำกับดูแลรายสาขาให้เอื้อต่อการแข่งขันมากขึ้น จะทำให้ประเทศไทยมีโอกาสที่จะขยายตัวในอัตราที่สูงเช่นในอดีตและสามารถหลุดพ้นจาก “กับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง” หรือที่เรียกว่า middle income trap ได้ และ ยังจะช่วยยกระดับรายได้ของแรงงานเกือบ 20 ล้านคนที่อยู่ในภาคบริการอีกด้วย

การศึกษามีข้อเสนอแนะว่า แม้ AEC จะเป็นเพียงมายาคติ แต่การหลอมรวมของเศรษฐกิจอาเซียนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติและการเปิดเสรีภาคบริการก็เป็นสิ่งที่ประเทศไทยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ด้วยกระแสการค้าและการลงทุนโลกที่ให้ความสำคัญแก่การเจรจาการค้าเพื่อให้สิทธิพิเศษทางเศรษฐกิจระหว่างกัน หากประเทศไทยยังคงปิดกั้นการลงทุนจากต่างประเทศดังที่ผ่านมาในขณะที่ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนเดินหน้าในการดึงดูดเงินทุน เทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญจากต่างประเทศเพื่อยกระดับการพัฒนาภาคบริการในประเทศ ก็จะเสียโอกาสที่จะตักตวงประโยชน์จากการเปิดเสรีภาคบริการในภูมิภาคอาเซียนจากการที่เป็นประเทศที่มีขนาดธุรกิจเป็นที่สอง และมีรายได้เป็นที่สามในภูมิภาคนี้ รวมทั้งมีแหล่งที่ตั้งที่อยู่ใจกลางของภูมิภาคอีกด้วย

แนวนโยบายทางเศรษฐกิจในอนาคตจะต้องให้ความสำคัญแก่การพัฒนาประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคบริการของไทยที่ล้าหลังภาคอุตสาหกรรมอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ประเทศไทยควรมี Roadmap ในการเปิดเสรีภาคบริการที่เป็นประโยชน์สูงสุดของประเทศ แทนการเปิดเสรีตามข้อข้อผูกพันในความตกลงระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น AEC หรือ TPP ก็ดี

คณะผู้วิจัยมีความเห็นว่า รัฐควรมีแนวนโยบายในการเปิดเสรีและการส่งเสริมการลงทุนในภาคบริการเพื่อที่จะพัฒนาประสิทธิภาพของภาคบริการไทยดังต่อไปนี้

1. แก้ไข พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นกฎหมายที่กีดกันการลงทุนจากต่างประเทศสู่ภาคบริการที่เข้มงวดมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยการ (1) แปลงบัญชี 3 ท้ายกฎหมายดังกล่าวที่กำหนดให้บริการทุกประเภทเป็นธุรกิจที่ประเทศไทยยังไม่พร้อมที่จะรับการลงทุนจากต่างประเทศซึ่งมีลักษณะที่เป็น positive list เป็น negative list โดยการระบุสาขาที่ประเทศไทยไม่พร้อมเปิดรับการลงทุน และ (2) กำหนดสาขาบริการที่ให้การคุ้มครองบนพื้นฐานของผลประโยชน์ของเศรษฐกิจส่วนรวมมิใช่ของผู้ประกอบการในธุรกิจนั้นๆ ตัวอย่าง เช่น สาขาบริการที่โครงสร้างตลาดกระจุกตัวโดยมีผู้ประกอบการขนาดใหญ่รายเดียว หรือ น้อยรายควรเปิดให้มีการแข่งขันจากต่างประเทศเพื่อที่จะให้บริการมีคุณภาพดีขึ้นและราคาต่ำลงอันจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคทั้งประเทศ ทั้งที่เป็นธุรกิจขนาดย่อมและประชาชนทั่วไป

2.เปิดเสรีธุรกิจบริการที่เป็นบริการสนับสนุนภาคธุรกิจไทยที่มีการผูกขาด อันได้แก่ พลังงาน และ โทรคมนาคม

3.ผลักดันให้หน่วยงานกำกับดูแลรายสาขายกเลิกมาตรการที่เป็นอุปสรรคกีดกันการลงทุนและมีมาตรการที่ช่วยส่งเสริมการแข่งขันในสาขาบริการที่มีความสำคัญในเชิงเศรษฐกิจได้แก่ สาขาโทรคมนาคม พลังงาน และ การเงิน

4.เร่งปรับปรุง กฎ ระเบียบที่ไม่จูงใจการลงทุนจากต่างประเทศ เช่น ข้อกำหนดจ้างงานคนไทย 4 คนต่อคนต่างด้าว 1 คน และ ข้อจำกัดเกี่ยวการจ้างงานวิชาชีพที่เป็นคนต่างด้าว (professional services) เพื่อที่จะให้ประเทศไทยกลายเป็นประตูสู่อาเซียนของเงินทุนที่ไหลเข้ามาจากภายนอกแทนสิงคโปร์

5.ทบทวนนโยบายการส่งเสริมการลงทุนที่เน้นเพียงธุรกิจอุตสาหกรรม


ข่าวที่เกี่ยวข้อง