เปิด 4 ขั้นตอน ควบคุมผู้ชุมนุม-ผอ.ศอ.รส.ย้ำ ยึดหลักสากล ไร้รุนแรง

23 พ.ย. 55
13:05
500
Logo Thai PBS
เปิด 4 ขั้นตอน ควบคุมผู้ชุมนุม-ผอ.ศอ.รส.ย้ำ ยึดหลักสากล ไร้รุนแรง

ผู้อำนวยการ ศูนย์รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ ศอ.รส. แถลง 4 ขั้นตอน พร้อมอุปกรณ์ ที่เตรียมให้เจ้าหน้าที่ใช้ในการควบคุมกลุ่มผู้ชุมนุม องค์การพิทักษ์สยาม วันพรุ่งนี้(24 พ.ย.) พร้อมยืนยัน จะไม่ใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม พร้อมจัดตั้ง 4 ศูนย์ปฎิบัติการส่วนหน้าดูแลความเรียบร้อย ทั้งทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา สนามเสือป่า และกองบังคับการตำรวจจราจร

<"">
<"">

 

กระบอง โล่ หน้ากาก แก๊สน้ำตาชนิดขว้าง คือ อุปกรณ์การดูแล กลุ่มผู้ชุมนุมองค์การพิทักษ์สยาม ที่ ศูนย์รักษาความมั่นคงภายในราชอาญาจักร หรือศอ.รส. เตรียมนำมาให้ตำรวจใช้ควบคุมสถานการณ์หากเกิดความรุนแรง

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะ ผอ.ศอ.รส. ยืนยันตำรวจจะไม่ใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม และจะไม่ใช้แก๊สน้ำตาชนิดยิง เนื่องจากป้องกันการเข้าใจผิดคิดว่าเป็นการใช้ปืน หรือ เครื่องยิงระเบิดชนิดเอ็ม 79

<"">
<"">

 

"เราปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งผมจะชี้แจงว่าเรามีขั้นตอนอย่างไร เพื่อให้ผู้ชุมนุม ชุมนุมได้อย่างถูกต้อง" พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผอ.ศอ.รส

สำหรับ แผนปฏิบัติที่ตำรวจนำมาปรับใช้ จะยึดจากแผนกรกฎ 52 แบ่งเป็น ขั้นตอนที่ 1 คือการขั้นเตรียมการก่อนการชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ด้านการข่าว จัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจ เตรียมกำลังหน่วยหลักและหน่วยสนับสนุน ขั้นตอนที่ 2 ขั้นการเผชิญเหตุ เจ้าหน้าที่จะยึดหลัก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในการปฏิบัติ นำกำลังรักษาความปลอดภัยสถานที่และบุคคลสำคัญ ชี้แจงทำความเข้าใจกับกับ แกนนำและกลุ่มผู้ชุมนุม ดำรงการเจรจาต่อรองเพื่อคลี่คลายสถานการณ์

<"">
<"">

 

ขั้นตอนที่ 3 คือ การใช้กำลังเข้าคลี่คลายสถานการณ์ โดยตำรวจจะมีการแจ้งเตือนกับผู้ชุมนุม พร้อมๆกับการเจรจาต่อรอง และขั้นตอนที่ 4 คือ การดูแลฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม สอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด

ซึ่งในทุกขั้นตอน ผอ.ศอ.รส ยืนยัน ต้องเป็นไปตามหลักสากล เลือกวิธีการที่เบาที่สุด และเป็นอันตรายต่อผุ้ชุมนุมน้อยที่สุด ซึ่งหากผุ้ชุมนุมยุติความรุนแรงหรือลดระดับลงแล้ว เจ้าหน้าที่จะต้องยุติ ระดับกำลังด้วย

<"">
<"">

 

"หลักการคือ เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนจะไม่ยืนติดกับฝูงชน จะต้องเว้นระยะห่าง ถ้าฝูงชนขยับเข้ามา เจ้าหน้าที่จะต้องผลักดันโดยใช้โล่ดันออกไประยะหนึ่ง แล้วถอยออกมา แล้วดัน แล้วถอยออกมา ถ้ายังดื้อดึง จะใช้แก๊สน้ำตา" พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา

<"">
<"">

 

สำหรับกำลังตำรวจ 112 กองร้อย จะนำมาใช้เพื่อดูแลสถานที่สำคัญ แบ่งเป็น ทำเนียบรัฐบาล 52 กองร้อย รัฐสภา 18 กองร้อย สวนจิตรลดา 12 กองร้อย ลานพระราชวังดุสิตหรือลานพระบรมรูปทรงม้า 9 กองร้อย โรงพยาบาลศิริราช 2 กองร้อย กองบัญชาการตำรวจนครบาล 4 กองร้อย บ้านบุคคลสำคัญ 2 กองร้อย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 2 กองร้อย และอีก 11 กองร้อยเป็นกำลังตำรวจที่ใช้ในการเพื่อเตรียมพร้อมหากมีสถานการณ์เกิดขึ้นก็สามารถเรียกใช้ได้ทันที และมีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า 4 แห่ง ทั้งควบคุมและประเมินสถานการณ์ คือ ที่ทำเนียบรัฐบาล อาคารรัฐสภาฯ สนามเสือป่า และกองบังคับการตำรวจจราจร


ข่าวที่เกี่ยวข้อง