"ค่าแรง 300" ชนวนสำคัญสร้างความขัดแย้งในสภาอุตสาหกรรมฯ

25 พ.ย. 55
13:29
681
Logo Thai PBS
"ค่าแรง 300" ชนวนสำคัญสร้างความขัดแย้งในสภาอุตสาหกรรมฯ

ความไม่เป็นเอกภาพในสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และความไม่พอใจของสมาชิกบางส่วนที่มีต่อตัวประธานสภาอุตสาหกรรม ประกอบกับผลของนโยบายรัฐ ที่กระทบกับผู้ประกอบการ ทำให้มีการเตรียมการปลดประธานและกรรมการบริหาร 70 คนออกจากตำแหน่ง แต่ในสายตาคนภายนอกมองว่าเป็นเรื่องภายในองค์กรที่ไม่ควรมีการแถลงผ่านสื่อมวลชน เพราะยิ่งทำให้ความขัดแย้งลุกลามบานปลาย และอาจเป็นผลร้ายต่อภาพความน่าเชื่อถือของภาคเอกชนทั้งหมด

<"">
<"">

 

หนังสือเวียนถึงกรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจากประธาน คือ นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล แจ้งเลื่อนการประชุมประจำเดือนที่นัดหมายไว้ในวันที่ 26 พฤศจิกายน โดยอ้างความไม่สะดวกจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง และข้อห่วงใยจากผู้อาวุโสที่ไม่ต้องการให้ความขัดแย้งภายในองค์กรบานปลาย ถูกตอบโต้โดยหนังสือเวียนอีกฉบับ จากเลขาธิการสภาอุตสาหกรรม นายสมมาต ขุนเศษฐ ยืนยันว่ายังมีการประชุมคณะกรรมการสภาฯ ตามเดิม และการเลื่อนประชุมของประธานไม่เป็นไปตามข้อบังคับของสภาอุตสาหกรรม นำไปสู่แถลงข่าวของทั้ง 2 คนพร้อมผู้สนับสนุนจึงเกิดขึ้นในวันนี้(25 พ.ย.) โดยใช้โรงแรมแห่งเดียวกัน ในเวลาไล่เลี่ยกัน แต่ต่างห้องกัน เพื่อตอบโต้กันถึงการเลื่อนหรือไม่เลื่อนการประชุม

"ในเรื่องของการบริหาร จะมีอำนาจหน้าที่ของประธานสภาอุตสาหกรรม และการบริหารต้องมีการตัดสินใจ ดูปัญหาต่างๆให้สอดคล้องกับการทำงาน ดังนั้นคำสั่งของประธานฯ ถือเป็นคำสั่งสูงสุด"
พยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

"การที่จะมีใครมาสั่งให้เลื่อน หรือยกเลิกการประชุมถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามกฎหมายของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดังนั้น ในฐานะเลขาฯ ผมขอปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย คือยังยืนยันที่จะจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการสภาฯ ในวันที่ 26 พ.ย. นี้ ในเวลา 15.00 น. ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์"สมมาต ขุนเศษฐ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ความไม่พอใจของสมาชิกสภาอุตสาหกรรมบางส่วนต่อบทบาทหน้าที่ประธานของ นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล เกิดขึ้นตั้งแต่การดำรงตำแหน่งประธานสมัยแรก แต่นโยบายปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทของรัฐบาล เป็นชนวนเหตุสำคัญที่ทำให้นายพยุงศักดิ์ ถูกกล่าวหาว่าเพิกเฉยต่อผลกระทบที่กำลังเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในช่วงที่ผ่าน

การประชุมที่จะเกิดขึ้นพรุ่งนี้(26 พ.ย.) เป็นการประชุมประจำเดือนของกรรมการสภาอุตสาหกรรม ที่จะมีกรรมการมาจากทั่วประเทศ และเสียงโหวตที่เกินกึ่งหนึ่งของกรรมการที่ประชุม จะสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารสภาอุตสาหกรรมจำนวนเกือบ 70 คนรวมทั้งตัวประธาน ซึ่งเป็นหนึ่งในวาระการประชุม และจะเป็นครั้งแรกในนับตั้งแต่ตั้งสภาอุตสาหกรรมที่มีมานาน 40 ปี

<"">
<"">

 

"ก็ควรจะพูดจากันก่อนค่อยออกแถลงการณ์ออกมา ถ้าคนหนึ่งพูดทีหนึ่งก็ไม่ไหว พอนักข่าวไปสัมภาษณ์คนที่เป็นอดีตด้วยผสมกันไป โดยหลักก็อยากให้ข้างในคุยกัน 300 บาทนี่มีทั้งดีและไม่ดี ไม่มีใครหรอกที่จะเสียตลอดหรือได้ตลอด" รศ.กิตติ ลิ่มสกุล คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ขณะที่ภาคเอกชนรายหนึ่งกล่าวกับทีมข่าวว่า การทำงานตำแหน่งประธานต้องทุ่มเท เพราะมีโอกาสบริหารเพียง 4 ปี หรือสองวาระ ซึ่งต้องยึดผลประโยชน์สมาชิกเป็นสำคัญ และต้องมีความสามารถประสานไม่ให้ขัดแย้งกับองค์กรภายนอก เช่น รัฐบาล เอ็นอีโอ ทั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมเป็น 1 ใน 3 ของ กกร. หรือ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน จึงไม่ควรให้ปัญหาภายในกระทบความน่าเชื่อถือของภาคเอกชนทั้งหมด เพราะอาจส่งผลให้ข้อเสนอของภาคเอกชนขาดน้ำหนักในการต่อรองกับรัฐบาล


ข่าวที่เกี่ยวข้อง